จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ 190 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารับรักษา ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม รายงานว่า หลังจากที่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง
รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ อาทิ การยกระดับบริการคัดกรองปากมดลูก จากวิธี PAP smear และวิธี VIA เป็นการหาการติดเชื้อ HPV บริเวณช่องคลอด ซึ่งมีความแม่นยำสูง เก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเอง ช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการของผู้หญิงจำนวนมาก
การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ, การป้องกันมะเร็งเต้านม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจยีนเสี่ยงมะเร็งสำหรับสตรีที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว, การป้องกันมะเร็งช่องปาก ด้วยการคัดกรองรอยโรคระยะก่อนมะเร็งโดยทันตบุคลากรในชุมชนร่วมกับการรักษาที่เหมาะสม
การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจ PET/CT Scan สำหรับมะเร็งปอดและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งท่อน้ำดี, การให้เคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
รวมถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ในการบรรเทาอาการข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัด และผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ได้กำหนดนโยบาย "มะเร็งรักษาทุกที่" (Cancer Anywhere) พร้อมกับพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในการให้บริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกสถานที่รักษาได้มากกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ช่วยลดขั้นตอนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต