แนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรมข้าวปี 65 -67 รุ่งหรือร่วง

07 ก.พ. 2565 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2565 | 18:55 น.

วิจัยกรุงศรี ประเมินแนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรมข้าวปี 65 -67 ปรับตัวดีกว่าปี 64 คาดผลผลิตและความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจ ด้านตลาดส่งออกกลับมาขยายตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า

วิจัยกรุงศรี เผยแนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรมข้าว โดยระบุว่า ในช่วงปี 2565-2567 อุตสาหกรรมข้าวโดยรวมมีทิศทางปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564 โดยปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ค่อนข้างสูงยังเป็นปัจจัยกดดันผลกำไรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงสีข้าว ไซโล และร้านค้าปลีกข้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

 

ทั้งนี้วิจัยกรุงศรี ได้เผยมุมมองอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มของธุรกิจ-อุตสาหกรรมข้าว ดังต่อไปนี้ 
 

ชาวนา

ปริมาณผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ด้านภูมิอากาศและระดับน้ำในเขื่อนที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนภาคเกษตรของภาครัฐฯ โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้และมาตรการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมข้าวเป็นปัจจัยหนุนรายได้ของชาวนา 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสียเปรียบด้านอำนาจต่อรองทางการตลาด โดยเฉพาะการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกที่อาจเพิ่มขึ้น (จาก 9,831 บาท/ตัน/ปี ในปี 2564 เป็น 10,500-11,000 บาท/ตัน/ปีภายในปี 2567 (CAGR 2.5-3.5%); อ้างอิงจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เป็นปัจจัยกดดันธุรกิจ

 

โรงสีข้าว

แม้รายได้มีโอกาสขยายตัวจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่การทำกำไรยังมีข้อจำกัดจากปัญหากำลังสีข้าวส่วนเกินในระบบอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กมักเสียเปรียบรายกลาง-ใหญ่ด้านอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ ทำให้มีต้นทุนรับซื้อข้าวสูงกว่า กลุ่มที่แข่งขันได้จึงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่/ครบวงจร และโรงสีข้าวขนาดกลางที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี

 

ผู้ผลิตข้าวถุง

รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร (มีทั้งโรงสีและบริษัทส่งออกข้าว) ตามความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวที่จะปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังมีทิศทางรุนแรงจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้าสู่ตลาด ขณะที่ต้นทุนการนำสินค้าเข้าตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งค่าการตลาดและค่าวางสินค้า

ร้านขายปลีกข้าว (แบบดั้งเดิม)

แนวโน้มรายได้และความสามารถในการทำกำไรยังถูกจำกัดจากการแข่งขันของตลาดข้าวถุงที่รุนแรง ทั้งด้านราคาและระบบบริหารจัดการซึ่งรวมถึงความสะดวกและคุณภาพการเก็บรักษา โดยร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะเสียเปรียบร้านค้าสมัยใหม่ ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น

 

ผู้ส่งออกข้าว

ปริมาณส่งออกข้าวของไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับลดลง ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าได้ดีขึ้น และความต้องการข้าวจากต่างประเทศจะทยอยฟื้นตัว เป็นปัจจัยเอื้อให้รายได้ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับดีขึ้น

 

ไซโล
รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจไซโลคาดว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยจาก 


1. ความต้องการเช่ามีทิศทางขยายตัวตามปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

2. ผู้ประกอบการบางส่วนทยอยออกจากตลาดหลังประสบภาวะขาดทุนในช่วงก่อนหน้า 


3. การบริหารจัดการพื้นที่ไซโลโดยการรับฝากธัญพืชประเภทอื่นทดแทน

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง จึงส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ

 

บทสรุปแนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรมข้าวปี 2565-2567 

 

ปี 2565-2567 ผลผลิตข้าวของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มสภาพอากาศ ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ที่น่าจะมีต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่/เพิ่มรอบการเพาะปลูก

 

โดยความต้องการบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับราคาข้าวของไทยคาดว่าจะปรับลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาวะด้านการขนส่งและโลจิสติกส์น่าจะกลับมาคล่องตัวมากขึ้นหลังเผชิญวิกฤต COVID-19 รุนแรงในปี 2563-2564 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม ซึ่งมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงและมีต้นทุนต่ำกว่า

 

 

ที่มา:วิจัยกรุงศรี (คลิกอ่านฉบับเต็มที่นี่)