นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามและเข้าตรวจสอบแหล่งประกอบการล้างถังสารเคมี พบว่ามีรูปแบบการทำเป็นครัวเรือน มีหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) ในกรณีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนสีคิ้ว ร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้ประกอบการกิจการล้างถังสารเคมี ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าขาว (อบต.หนองหญ้าขาว) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นนำถังสารเคมีมาล้างในชุมชน อาจส่งผลกระทบให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำในคลองอีสานเขียวและอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลได้นั้น คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ได้ติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว
จากการเข้าตรวจสอบพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการ จำนวน 13 ราย ปัจจุบันได้มายื่นขออนุญาตจดทะเบียนพาณิชย์ ณ อบต.หนองหญ้าขาว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เนื่องจากข้อบัญญัติ อบต.หนองหญ้าขาว ว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ยังไม่ครอบคลุมถึงการประกอบการกิจการล้างถังสารเคมี
และจากการตรวจสอบพบว่ามีการประกอบกิจการเป็นครัวเรือน ถังสารเคมีที่นำมาล่างส่วนใหญ่เป็นถังขนาด 200 ลิตร และขนาด 1,000 ลิตร รับซื้อมาจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี และสระบุรี บางรายเป็นถังที่เคยบรรจุของเสียอันตราย หรือบรรจุสารเคมีอันตราย เช่น มีฤทธิ์กัดกร่อน นำมาล้างเพื่อจำหน่าย โดยน้ำทิ้งจากการล้างสารเคมีถูกรวบรวมพักไว้ในบ่อดิน ถังพลาสติก และบ่อซีเมนต์
จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำในบ่อกักน้ำทิ้งพบว่ามีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีและซีโอดีเท่ากับ 6,630 และ 26,800 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ตามลำดับ เมื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดมาตรฐานค่าบีโอดีและซีโอดีไม่เกิน 20 และ 120 มก./ล.ตามลำดับ พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนั้น ยังตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนัก มีทั้งแคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และสารหนู ในน้ำทิ้งดังกล่าว และตรวจพบร่องรอยการรั่วไหลของน้ำทิ้งจากสถานประกอบการล้างถังไหลลงสู่คลองอีสานเขียว
สำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำคลองอีสานเขียว จำนวน 4 จุด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการล้างถัง พบว่าบริเวณต้นน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณพื้นที่ประกอบการ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) พบว่ามีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ส่วนคลองอีสานเขียวบริเวณใกล้กับสถานประกอบการล้างถัง มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรมมาก จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ถึง 5
ขณะที่จากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักของน้ำในคลองอีสานเขียว พบว่า บริเวณท้ายน้ำหลังจากไหลผ่านพื้นที่ประกอบการล้างถัง มีค่าแคดเมียมเท่ากับ 0.01 มก./ล. เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่กรมอนามัยกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 0.005 มก./ล. บ่งชี้ว่าน้ำในคลองอีสานเขียวมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ หรือการบริโภคโดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อกำจัดสารโลหะหนักที่ตกค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลซึ่งเป็นบริเวณท้ายน้ำ มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 และถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลจะพบปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลเป็นแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมสารปนเปื้อนโลหะหนักที่แพร่กระจายออกมาจากกิจการล้างถังสารเคมีในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 แจ้งว่านายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน