อาการลอง โควิด (Long COVID) คืออะไร กลุ่มไหนเสี่ยงสุด ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

13 ก.พ. 2565 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2565 | 21:27 น.

อาการลอง โควิด (Long COVID) คืออะไร กลุ่มไหนเสี่ยงสุด ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย อ่านครบจบที่นี่ แนะฉีดวัคซีนป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต

ลอง โควิด (Long COVID) กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หลังจากที่ปัจจุบันในประเทศมีการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) สะสมแล้วเกิน 500,000 รายในระลอกใหม่

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะนำไปรู้จักกับอาการ ลอง โควิด ว่าคืออะไร

 

เป็นโควิด-19 รักษาหายแล้ว แต่ทำไมยังป่วยอยู่ หลายคนมีข้อสงสัย เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วบางราย ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลือต่อเนื่องเป็นเวลานาน  

 

ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มที่มีอาการอาจจะมีอาการตั้แต่ 1 เดือน 

 

หรือมากกว่า 4-6 สัปดาห์ จะเป็นอาการที่เรียกว่า Post Covid Syndrome หรือ Long COVID คือ  อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19

 

Long COVID หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว เนื่องจากในขณะที่ป่วยโควิด-19 ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา และไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และไปทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ

 

อาการ Long COVID เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว อาจเหมือนหรือต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งผลกระทบของ Long COVID สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ

 

,ระบบประสาท,ระบบทางเดินอาหาร ,หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบอาการ Long COVID

 

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ทีมีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้มีในขณะติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรง กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อและไม่มีอาการ
     

แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักหรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสที่จะเกิดอาการ Long COVID ได้เช่นเดียวกัน แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่ได้จากการรับวัคซีน

 

อาการ Long Covid หรือผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีอะไรบ้าง

 

  • ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น
  • แสบตา คันตา น้ำตาไหล
  • คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น
  • การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย
  • มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน
  • ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • มีไข้
  • ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
  • ปวดข้อ กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีภาวะสมองล้า
  • นอนไม่หลับ
  • ความดันโลหิตสูง
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า

 

10 อาการ ที่พบมากที่สุดใน Long COVID คือ 

 

  • เหนื่อยล้า
  • หายใจไม่อิ่ม
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ไอ
  • ปวดหัว
  • เจ็บข้อต่อ
  • เจ็บหน้าอก
  • การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป
  • อาการท้องร่วง 
  • การรับรสเปลี่ยนไป

 

ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ตับอักเสบเฉียบพลัน
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

 

ผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด-19

 

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
     

โดยแพทย์จะพิจารณาอาการต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น

 

1. อาการที่เกิดขึ้น เกิดจากการนอนโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน  เช่น อาการจิตตก ซึมเศร้า ติดเตียง แผลกดทับ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ

 

2. อาการเกิดจากผลแทรกซ้อนที่ได้รับจากยาขณะเข้ารับการรักษาโควิด-19 ส่วนใหญ่ยารักษาโรคโควิด-19 มักจะไม่พบผลแทรกซ้อนในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับยาในระยะสั้น ๆ แต่อาจสามารถพบได้กับยาที่รักษาอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรักษาโควิด-19 เช่น ยากลุ่ม สเตียรอยด์ อาการที่อาจพบได้หลังกลับบ้าน เช่น แสบกระเพาะ รู้สึกเหมือนมีอาการกรดไหลย้อน ค่าน้ำตาลไม่คงที่ หรือมีอาการทางเบาหวาน

 

3. อาการที่เกิดจากผลแทรกซ้อนของโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ในระยะ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง แบ่งออกเป็น

 

  • กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและไม่พบความผิดปกติ เช่น หอบเหนื่อย เพลีย รู้สึกเหมือนร่างกายยังไม่ฟื้น การรักษา จะรักษาตามอาการ รอจนร่างกายปรับและฟื้นตัว

 

  • กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและพบความผิดปกติ เช่น พบผังผืดที่ปอด หรือพบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อ เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ ซึ่งพบได้น้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

  • กลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบอาการผิดปกติที่ปอด การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์


วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) และป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะอาการ Long COVID คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเรารู้ดีว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้

 

นอกจากนี้ยังต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากาก, เว้นระยะห่างทางกายภาพ ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปในพื้นที่ที่แออัด หรือแหล่งชุมชน