ทลายโกดัง 'สินค้าปลอม' ยี่ห้อดัง 142 รายการ

15 ก.พ. 2565 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 16:23 น.

บุกทลายโกดัง 'สินค้าปลอม' ยี่ห้อดัง นับ 100 รายการ จ.ปทุมธานี พบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว,เครื่องวัดอุณหภูมิ , เครื่องสำอางค์ ,แชมพู ,แผ่นแปะแก้ปวด และ ยาสมุนไพร อื้อ อย.ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง รวบของกลางได้กว่า 30 ล้านบาท

15 ก.พ.2565 - ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย. บุกทลายโกดัง 'สินค้าปลอม' ยี่ห้อดัง และ 'สินค้าผิดกฎหมาย' จำนวนมาก มูลค่าของกลางกว่า 30 ล้านบาท หลังลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นับ 142 รายการ 
 

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า พบการจำหน่ายสินค้าหลายรายการ ได้แก่ 

  • เครื่องสำอางยี่ห้อดัง
  • ผลิตภัณฑ์ยา 
  • ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องวัดความดัน, ชุดตรวจเลือดปลายนิ้ว) 

ทลายโกดัง \'สินค้าปลอม\' ยี่ห้อดัง 142 รายการ

ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมและด้อยคุณภาพ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังเป็นจำนวนมาก จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าว โดยพบเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีนและนำมาเก็บซ่อนอยู่ที่โกดังแห่งหนึ่งในเขต อ.คลองหลวง ปทุมธานี เพื่อนำมารอกระจายจัดส่งให้กับลูกค้า มีการลงโฆษณาขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังกว่า 10 ร้านค้า 

ทลายโกดังยาปลอม ปทุมธานี


ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ร่วมกับ อย.นำหมายค้นของศาลจังหวัดปทุมธานี เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดพื้นที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด ได้แก่ 

 

1. โกดังเก็บสินค้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบ น.ส. ก.(สงวนชื่อและนามสกุลจริง) สัญชาติจีน แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท พบสินค้า จำพวก

  • เครื่องมือแพทย์ (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องวัดความดัน, ชุดตรวจเลือดปลายนิ้ว )
  • เครื่องสำอางยี่ห้อดัง (เซรั่มฉีดผมนีโอแฮร์) 
  • เครื่องสำอางที่ไม่ได้มีการจดแจ้งประเภท 
  • บำรุงผิวหน้าผิวตัว
  • ชำระล้างหน้าและตัวมีทั้งสบู่เหลวและก้อน
  • แชมพู
  • ยาสีฟัน
  • ทำความสะอาดเส้นผมและบำรุงเส้นผม
  • ฟอกสีฟัน 
  • ผลิตภัณฑ์ยา (ครีมเคาน์เตอร์เพน, แผ่นแปะแก้ปวดตราเสือ) 
  • ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียน 

ยาปลอม

2. บ้านไม่ทราบเลขที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  มี นาย ข. (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) สัญชาติจีนแสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ โดยจุดดังกล่าวเป็นจุดรับและนำสินค้าจากโกดังมาบรรจุ และจัดส่งไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อพบคอมพิวเตอร์ จำนวน 6 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือกว่า 60 เครื่อง จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

ขายยาปลอมมีโทษหนัก 

1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510  

  • ฐาน “ขายยาปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท 
  • ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท


2. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535

  • ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ2.3. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

3. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ใบรับแจ้งรายการละเอียด หรือใบรับจดแจ้ง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

4. พระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับ ใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ยาปลอม
ซื้อยาออนไลน์เสี่ยงได้รับยาปลอม

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา เนื่องจากการซื้อยาออนไลน์มีอันตราย เสี่ยงต่อการได้รับยาปลอม ไม่ทราบแหล่งผลิต ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้สูญเสียเงินไปโดยไม่สามารถรักษาโรคได้ จึงไม่ควรซื้ออย่างเด็ดขาด 

 

ซึ่ง อย. ไม่อนุญาตให้มีการขายยาทางสื่อออนไลน์ ส่วนกรณีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหากพบว่ารายการที่ขายมีราคาถูกจนเกินไปจากเคาน์เตอร์แบรนด์ หรือเป็นลักษณะ Pre Order ซื้อ 1 แถม 1 ราคาถูกเกินกว่าความเป็นจริง  ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ หน้าพังได้ และสำหรับเครื่องมือแพทย์ก็ควรเลือกซื้อจากสถานที่ที่เป็นหลักแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรเน้นสินค้าราคาถูกที่ขายทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจได้รับการแปลผลที่ผิดพลาด หรือเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพส่งผลเสียต่อชีวิตของผู้ใช้ได้ เช่นเครื่องผลิตออกซิเจน 

ยาปลอม

ประเด็นที่สำคัญที่ขอเตือนผู้บริโภค คือไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น แผ่นแปะสะดือลดน้ำหนัก แผ่นแปะเท้ารักษาโรคเพิ่มการไหลเวียน สมุนไพรทาหน้าอกหรือทาอวัยวะเพศชายเพื่อเพิ่มขนาด ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่หลอกลวง และใช้ไม่ได้ผลตามที่โฆษณาหลอกลวง ฉะนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ทั้งนี้หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected]  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ทลายโกดัง \'สินค้าปลอม\' ยี่ห้อดัง 142 รายการ ทลายโกดัง \'สินค้าปลอม\' ยี่ห้อดัง 142 รายการ

ที่มา : อย. , กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค