สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วยรายใหม่ 18,883 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,731,198 ราย (ปี 2563 - ปัจจุบัน)ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ในกรุงเทพมหานคร 2,753 ราย รวมผู้ป่วยสะสมในกรุงเทพมหานคร 78,086 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 - ปัจจุบัน)
แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดคำถามว่าประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะประสบกับภาวะวิกฤติเตียงเต็มหรือไม่ ประกอบกับเพจอาสาชื่อดังอย่าง "เพจเราต้องรอด"ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งอย่างได๋ ไดอาน่า และอีกหนึ่งเพจดังอย่าง "เส้นด้าย" ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเริ่มหยุดรับผู้ป่วยติดเชื้อของฮอสพิเทล -โรงพยาบาลบางแห่ง รวมไปถึงศูนย์พักคอยฯบางจุดก็เต็มพื้นที่
โดยเนื้อหาใจความที่เพจดังระบุมีดังนี้ "เพจเราต้องรอด" โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 23.22 น. ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนเเปลง HOSPITEL หลายเเห่งเริ่มหยุดรับผู้ป่วยเเล้ว หากติดเชื้อจึงไม่สามารถ "เลือก" โรงเเรมได้เหมือนเคยในกรณีที่จำเป็นต้องเเยกกักตัวสามารถขอเข้าศูนย์พักคอยในเขตของท่าน หรือหากสามารถรักษาตัวที่บ้าน
สำหรับเพจเราต้องรอด เป็นเพจอาสาที่ก่อตั้งโดยได๋ ไดอาน่า เเละ จ๊ะ นงผณี ซึ่งก่อนหน้านั้น ได๋ ไดอาน่า ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า มีมิจฉาชีพ -ผู้ไม่หวังดี ปล่อยข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า หวังผลการเมือง ทำเพจร่วมกับพรรคการเมือง มีการเก็บเงินผู้ป่วย โดยเเอบอ้างเพจเราต้องรอด
โดย ได๋ ไดอาน่า ย้ำว่า เพจเราต้องรอดเป็นเพจอาสา 100 % ไม่คิดเงินผู้ป่วย ช่วยผู้ป่วยโควิดทุกคนเต็มที่ และไม่ใช่พรรคการเมือง ดังนั้นหากผู้ที่ปล่อยข่าวยังไม่หยุดจะทำทุกวิถีทางให้คุณไม่รอด (อ่านโพสต์ข้อความเต็มที่นี่)
ด้านเพจอาสาอีกหนึ่งเจ้าอย่าง "เส้นด้าย" ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เส้นด้าย - Zendai เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า ในวันที่ฮอสพิเทลหลายที่เริ่มปิดรับคนไข้ โรงพยาบาลหลายแห่งเตียงเริ่มเต็ม คนไข้หลายคนยังรอคอยยาอยู่ที่บ้าน.... ภาพเดิมๆเริ่มกลับมา
วันนี้ที่เราเจอ รปภท่านหนึ่งต้องมานอนบริเวณหน้าธนาคารเพราะที่ห้องเช่ามีเมียและลูกเพื่อนบ้านอีกหลายชีวิตต้องใช้ห้องน้ำรวม หลังจากพยายามติดต่อเข้ารับการรักษารพประกันสังคมและเบอร์ต่างๆไม่สำเร็จเนื่องจากติดวันหยุด จึงตัดสินใจเก็บข้าวของเสื้อผ้ามานอนรอการรักษา
เบื้องต้นอาสาเส้นด้ายนำส่ง ศูนย์พักคอยเราต้องรอด คันนายาวเรียบร้อยแล้ว
โดยทั้ง 2 เพจอาสาชื่อดังต่างโพสต์ข้อความไปในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวกับสถานการณ์เตียงเต็ม ดังนั้นวันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูลของการดำเนินงานของศูนย์พักคอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมไปถึงแผนงานของกรุงเทพฯเกี่ยวกับการดูแลและรองรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดเนื้่อหาดังนี้
การดำเนินงานศูนย์พักคอยของกรุงเทพมหานคร (CI) ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่ามีจำนวน 31 แห่งที่เปิดให้บริการ มีเตียง 3,981 เตียง มีผู้ครองเตียง 1,716 ราย คงเหลือ 2,065 เตียง ทั้งนี้กทม.กำลังเร่งเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มเติม คาดว่าหากแล้วเสร็จจะมีจำนวนศูนย์พักคอย (Community Isolation) รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 แห่ง มีเตียงรวมทั้งสิ้น 4,922 เตียง
นอกจากนั้นแล้วยังมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตดุสิต บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5 – 12 ปี ได้ 52 เตียง และกทม.ยังมีโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ที่ได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel โดยปัจจุบันมีเตียงรองรับได้ทั้งหมด 3,426 เตียง เพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 ม.ค. 2565 จำนวน 1,072 เตียง คิดเป็นร้อยละ 45.5
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่าหากประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยโทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือสายด่วนโควิด (EOC) 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับการประเมินอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ว่าอยู่ในกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้แล้วว่าตัวเลขจะสูงขึ้นมาอยู่ในระดับนี้อีกสักระยะ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สถานที่รักษาพยาบาล โดยขอให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมให้เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น ยังรวมถึงการรักษาตนเองที่บ้าน (Home Isolation:HI) และกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อลดความแอดอัดในโรงพยาบาล
"ขอกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดรวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่รระบาดในพื้นที่ รวมทั้งเร่งนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาตามลำดับอาการ"
ที่มาข้อมูล -ภาพ