สธ.แจงยกเลิกสิทธิ UCEP เป็นแผนให้ “โควิด” กลับสู่ “โรคประจำถิ่น”

23 ก.พ. 2565 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2565 | 12:20 น.

สธ.ยืนยัน ยกเลิกสิทธิ UCEP ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ เเต่เป็นแผนให้ “โควิด” กลับสู่ “โรคประจำถิ่น” ขณะที่เตียงรักษาผู้ป่วยโควิดสีเขียวนี้ใช้ไป 50% ส่สีเหลืองและสีแดงมีไม่ถึง 20% ของจำนวนเตียงที่มีอยู่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยก่อนการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ โดยระบุถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งเลื่อนการออกประกาศยกเลิกแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโควิด-19 สิทธิ UCEP นั้น ว่า แนวทางเดิมของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการให้มีการยกเลิก UCEP

เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ที่ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าแล้ว ความรุนแรง การเจ็บป่วยของโรคได้ลดลง ทำให้ต้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว

โดยเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เข้ารักษาตามสิทธิโรงพยาบาลที่มีอยู่ ซึ่งคนไทย 99% ก็มีสิทธิอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆแล้ว แต่ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ยังได้รับสิทธิการรักษาแบบฉุกเฉินอยู่ เพื่อความรอบคอบปลอดภัย นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปทบทวนใหม่

ดังนั้น การตัดสินใจยกเลิก UCEP ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแต่อย่างใด แต่เป็นแผนให้โควิด-19 กลับมาเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งต่างประเทศได้ปรับมาตรการไปแล้ว แม้ประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศ แต่ต้องบริหารจัดการให้เข้าสู่โรคประจำถิ่น ขณะนี้โรคได้ลดความรุนแรงลงและต้องเป็นไปตามกลไก แต่หากประกาศให้เป็นโรคฉุกเฉินอยู่ก็จะเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยในสีเขียวที่สามารถรักษาในระบบ Home Isolation ได้ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะไปทบทวนสิทธิต่อไป

 

สำหรับเตียงรักษาผู้ป่วยสีเขียวขณะนี้ใช้ไป 50% ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงมีไม่ถึง 20% ของจำนวนเตียงที่มีอยู่ จึงคิดว่ามีเตียงที่เพียงพอรองรับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในส่วนของภูมิภาคและกรุงเทพฯ และวันนี้จะรายงานให้ที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบถึงจำนวนเตียงที่มีเพียงพอ

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามหลักการ UCEP ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ชะลอไว้ก่อนนั้น ไม่ได้ยกเลิกข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ขอให้ไปพิจารณา ให้ประชาชนเข้าใจก่อน เพราะกลัวประชาชนจะสับสน อย่าไปเข้าใจผิดว่า มีการตีกลับหรือตีตก

 

พร้อมยืนยันว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเตียงเพียงพอ และต่างจังหวัดก็มีความพร้อมรับผู้ป่วย และย้ำว่าในพื้นที่กทม. กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจหลักในการสนับสนุนการทำงานของกทม.เท่านั้น แต่การสั่งการหรือบริหารจัดการจะอยู่กับกทม.เป็นหลัก และกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมการแพทย์ประสานการทำงานกับ กทม.ในทุกๆเรื่อง

 

"ได้ประสานงานกันมาตลอด ไม่ได้ขัดแย้ง และพร้อมสนับสนุนการทำงานของ กทม.ที่เป็นเจ้าภาพหลักเสมอ และเมื่อกทม.ร้องขอมาตามระบบ สาธารณสุขก็พร้อมสนับสนันทันที เพียงแต่จะไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน"