นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโรคโควิด 19
นพ.ธเรศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปรับระบบการรักษาโรคโควิด 19 ให้เป็นการรักษาตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 และจะมีการประกาศใช้ UCEP Plus ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงให้เข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
ดังนั้น ขณะนี้โรคโควิด 19 จึงยังเป็นโรคฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุกที่ (UCEP COVID) สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ป่วยได้ หากไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือไม่มีเตียงจะต้องส่งต่อ และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล
ส่วนการทบทวนจะเน้นทำความเข้าใจประชาชน ทั้งการเข้าสู่ระบบเมื่อติดเชื้อ ช่องทางติดต่อ การใช้สิทธิรักษาของแต่ละกองทุนสุขภาพ ความเข้าใจเรื่องระดับอาการที่มีการดูแลแตกต่างกัน เช่น อาการปานกลางสีเหลืองที่เข้ารักษาได้ทุกที่มีเกณฑ์อย่างไร เป็นต้น รวมถึงระบบการส่งต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ถูกช่องทาง รวมถึง
ทำความเข้าใจกับฝั่งสถานพยาบาลด้วย ส่วนเรื่องของ UCEP Plus ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เตรียมการรองรับและทำระบบคัดแยกไว้แล้วนั้น จะมีการทบทวนไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทบทวนไว้ หากเตรียมกระบวนการบริการและการสื่อสารครบถ้วนก็นำเสนอ ครม.ต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ยืนยันว่า UCEP COVID ยังรักษาได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องกลับไปรักษายังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนการรับบริการทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่าย สำหรับช่องทางลงทะเบียนผู้ติดเชื้อผ่านสายด่วน 1330 พบว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนสายติดต่อเข้ามาสูงที่สุด 49,005 สาย ในรอบ 24 ชั่วโมง จึงเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายอีก 150 คน อย่างไรก็ตาม ทุกวินาทีจะมีผู้รอสายประมาณ 50 สาย จึงแนะนำให้ติดต่อผ่านไลน์ สปสช. @nhso หรือเว็บไซต์ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและติดต่อกลับเช่นกัน
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สพฉ.พร้อมให้การสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น UCEP COVID หรือ UCEP Plus สำหรับผู้ติดเชื้อให้โทรประสาน สปสช. ทางหมายเลข 1330 หรือ @nhso แต่หากระหว่างรอการประสานเพื่อรับยา หรือรอการรักษา มีอาการแย่ลง เช่น เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ไข้สูง หรือมีอาการที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้โทรสายด่วน 1669 ซึ่งใน กทม.
ศูนย์เอราวัณเป็นผู้ดูแล สำหรับต่างจังหวัด หรือปริมณฑล จะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดแต่ละแห่งดูแลโดยทางศูนย์ฯ 1669 จะพิจารณา ส่งทีมและรถไปรับผู้ป่วยไปส่งยังสถานพยาบาล ที่จะไปรับการรักษาตามคำแนะนำของ สปสช. ซึ่งต้องสอดคล้องกับกองทุนที่จะไปตามจ่ายต่อไปด้วย โดย สพฉ.ได้มีการประสานและทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณมาโดยตลอด ในช่วงนี้จำนวนเคสยังไม่มากนัก ซึ่ง กทม.ยังสามารถดูแลได้ ศูนย์เอราวัณจะเป็นผู้จัดทีมเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่หากในอนาคตมีจำนวนเคสเพิ่มมากขึ้นเกินศักยภาพของ กทม. ที่จะช่วยเหลือได้ สพฉ.ก็พร้อมที่จะระดมทรัพยากรและจัดทีมเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป