หลายคนสงสัยกรณีที่ผู้ป่วยโควิด19 จำเป็นต้องได้รับ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทุกรายหรือไม่ เรื่องนี้ นพ.เกียริตภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไปตามลักษณะของทั่วโลกจะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปานกลางขึ้นไปตามไกด์ไลน์ใหม่แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ ซึ่งการจ่ายยาขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา และทำความเข้าใจกับคนไข้
“ไทยน่าจะมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะใช้หลายสิบล้านเม็ด แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่ความยาก แต่เมื่อป่วยไข้ ก็ต้องให้ผู้ที่มีความรู้ดูแลรักษา ตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้งด ว่าไม่ให้การดูแล” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การที่ให้รักษาระบบแยกกักตัวที่บ้านเป็นอันดับแรก (HI First) เพราะเราฉีดวัคซีนเยอะกว่า 80% คนเฝ้าระวังเเละใส่ใจตัวเองมากขึ้น โดยจะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ อาหาร ยาไปดูแล แพทย์ติดตามอาการทุกวัน
"ไม่มีอาการไม่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีอาการหรือความเสี่ยงจะอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ หรือถ้ามีอาการแม้แต่เล็กน้อย จะเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ว่า จำเป็นมากน้อยแค่ไหน บางรายเสี่ยงแพ้ยาได้"
หากมีอาการเล็กน้อยให้รักษาตามอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหายเองได้ ซึ่งไวรัสวันนี้เหมือนไข้หวัด แต่ที่ผ่านมาสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรง ไม่มีภูมิต้านทาน ทำให้เชื้อลงปอด ใครมีโรคประจำตัว ก็ยิ่งแย่ลง พอติดเชื้อแจ้งเข้ามาส่วนใหญ่ มีอาการจึงจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงนี้โรคมีความรุนแรงลดลง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ พอมี ATK ก็ตรวจรู้ผลเร็ว จึงไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์