นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-24 ก.พ. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีข้อความเข้ามาทั้งสิ้น 11,514,668 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 222 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 107 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 39 เรื่อง
โดยมีข่าวปลอมที่คนสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.รู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ สามารถรู้ยอดเงินในธนาคารได้ 2.ธ.ก.ส. ส่ง SMS เข้ามือถือเบอร์ส่วนตัว เพื่อให้คลิกลิงก์เข้าระบบ 3.ใช้ปัสสาวะหยอดตา ช่วยแก้อาการปวดตาได้ 4. ดื่มน้ำต้มสมุนไพร 7 อย่าง ช่วยรักษาโรคมะเร็งในกระดูก 5. ธ.กรุงไทย ให้ยืมเงินปิดหนี้ตามนโยบายรัฐ ดอกเบี้ยต่ำ ยืมได้ทุกอาชีพ
6. แถบสีท้ายหลอดยาสีฟัน บอกถึงส่วนประกอบที่ใช้ผลิต 7. ธ.ออมสิน ร่วมกับบริษัทเอกชน ปล่อยเงินกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท 8.ชี้แนะเครื่องดื่มสมุนไพร ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดในหัวใจ 9.น้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์ได้ และ 10.ต้นบานเย็น มีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง
“ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ ในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ เกาะกลุ่มอยู่ที่ 2 หมวดข่าว ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ และเศรษฐกิจการเงินภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน ดังนั้นควรรอบคอบ และตรวจสอบอย่างรอบด้านถ้าพบการส่งต่อ หรือการโพสต์ข่าวประเด็นเหล่านี้บนโซเชียล เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม” นางสาวนพวรรณกล่าว
ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตาม รวมทั้งช่วยกันแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87