น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
27 กุมภาพันธ์ 2565 โควิดไทยเริ่มชะลอตัวอีกครั้ง แต่คาดว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุด
โควิด-19 (Covid-19) ระลอกใหม่จากโอมิครอน (Omicron) มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.กลุ่มประเทศตะวันตกหลายประเทศ ตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการเร็ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก ประกอบกับประชาชนไม่นิยมใส่หน้ากากอยู่แล้ว
จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงจุดสูงสุดในเวลารวดเร็วประมาณหนึ่งเดือน ทำให้ขาลงก็รวดเร็วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีผลกระทบกับระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพราะผู้ติดเชื้อที่มีอาการ มีจำนวนล้นโรงพยาบาล เกินศักยภาพที่จะรับมือไหว ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูง เพราะขาดโอกาสในการได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล
2.กลุ่มประเทศโลกตะวันออกหลายประเทศ เลือกวิธีมาตรการคุมที่เข้มข้นมากกว่า เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่า โดยที่ประชาชนนิยมหรือยอมรับการใส่หน้ากากมากกว่า
จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นสู่จุดสูงสุดช้ากว่า ส่งผลให้ระยะเวลาที่อยู่ในระลอกของการติดเชื้อนานกว่า จึงเปิดระบบเศรษฐกิจได้ช้ากว่า
แต่มีผลดีคือ ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไหว ไม่เกิดผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลพร้อมกันทั้งประเทศ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำ
ประเทศไทยเราเอง ก็เลือกแนวทางที่สอง จึงทำให้ขาขึ้นของประเทศไทย ขึ้นด้วยอัตราที่ช้ากว่าประเทศตะวันตก ระบบสาธารณสุขมีโอกาสที่จะรับมือไหว
ขนาดใช้วิธีที่สอง บางโรงพยาบาลก็เริ่มหาเตียงรับไม่ค่อยได้แล้ว
เมื่อวิเคราะห์ลักษณะของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งแบบตรวจยืนยันด้วย PCR และแบบติดเชื้อรวมทั้ง PCR +ATK พบว่าของไทยยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มีระยะพักหรือชลอตัวเป็นระยะทุก 2-3 สัปดาห์ดังนี้
1.1-21 มกราคม 2565
2.ช่วง 21-28 มกราคม 2565
3.ช่วง 1-14 กุมภาพันธ์ 2565
4.ช่วง 14-20 กุมภาพันธ์ 2565
5.20-25 กุมภาพันธ์ 2565
6.ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา
เป็นช่วงขาขึ้นใหญ่ ที่มีระยะพักหรือทรงตัวเป็นระยะ แต่ยังไม่ถึงจุดพีค
คงจะต้องติดตามต่อไปว่า จุดสูงสุดหรือพีคจะอยู่ที่จำนวนเท่าใด
คาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 50,000 ถึง 100,000 รายต่อวัน
ซึ่งระบบสาธารณสุขก็ยังพอมีโอกาสจะรองรับไหว แต่ยากลำบากและมีปัญหามากพอสมควร
ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน จึงควรร่วมกันคนละไม้คนละมือ ในการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้