นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ECST และเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ ได้เผยแพร่ 10 เหตุผลที่บุหรี่ไฟฟ้าควรได้รับการควบคุมอย่างถูกกฎหมายตอบโต้ข้อมูลที่กรมควบคุมโรคได้เคยชี้แจงไว้ก่อนหน้า ประกอบด้วย
1.ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกว่า 79 ประเทศเลือกที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายแทนที่จะแบน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีเพียง 32 ประเทศเท่านั้นที่แบนผลิตภัณฑ์ ENDS ขณะที่อีก 79 ประเทศมีมาตรการควบคุมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กำหนดอายุผู้ซื้อ ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ และอีก 84 ประเทศที่ยังไม่มีนโยบายใด ๆ
2.ประชาชนควรมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่า
3.การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การจับกุมรีดไถ และขจัดธุรกิจใต้ดินที่มีมูลค่ามหาศาล
4.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาของเด็กและเยาวชน ดูได้จากประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถขายได้ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น
5.ผลวิจัยจำนวนมากระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ เช่น กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษอนุญาตให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) สั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้
6.นิโคตินเป็นสารเสพติด แต่ไม่ได้เป็นตัวการหลักของโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่น ๆ
7.บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีกว่าวิธีการอื่นๆ เช่น สถาบันมะเร็งอังกฤษที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ดีกว่าการหักดิบถึง 60%
8.การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถปกป้องเด็กและเยาวชนได้จริง เรายังคงพบการไลฟ์ขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยกลุ่มเยาวชน มีเพจเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์กว่า 4.8 ล้านแอคเค้าต์โดยที่ผู้ขายไม่สามารถตรวจสอบอายุผู้ซื้อได้เลย ตรงกันข้ามกับอังกฤษ นิวซีแลนด์ ที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอายุขั้นต่ำผู้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้
9.บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายช่วยเปิดโอกาสให้กับเกษตรชาวไร่ยาสูบของไทย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะทำให้ทั้งการยาสูบฯ และเกษตรกรมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูบบุหรี่มากขึ้น
10. เพราะชีวิตคนไทยทุกคนมีค่า นโยบายด้านสาธารณสุขที่ดีจึงต้องตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น อย.ของสหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ที่ออกกฎหมายชัดเจนเพื่อควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้า ต่างจากไทยที่มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคยังคงใช้ข้ออ้างเรื่องอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและการป้องกันเด็ก รวมถึงความไม่พร้อมด้านงบประมาณ เพื่อให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้
โดยไม่มองความก้าวหน้าของเทคโนโลยี วิธีควบคุมของต่างประเทศ และความต้องการของผู้สูบบุหรี่ ทำให้มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพและบังคับใช้จริงไม่ได้ เพราะเราก็ยังเห็นกันอยู่ว่ายังมีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าเราจะห้ามนำเข้าและจำหน่ายมา 7-8 ปีแล้ว
สำหรับในประเทศไทย มีแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติฉบับแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่กลับพลาดเป้าหมายในการลดอัตราผู้สูบบุหรี่ที่ตั้งไว้มาโดยตลอด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งผ่านร่างแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570
โดยพุ่งเป้าที่การดำเนินงานตาม 6 ยุทธศาสตร์เดิม ภายใต้เงินงบประมาณ 498 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เหลือไม่เกิน 14% โดยไม่ยอมรับความจริงว่าคนที่สูบบุหรี่กว่า 52% จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่เคยคิดที่จะเลิกบุหรี่เลย
ทำให้มาตรการและการรณรงค์ที่ผ่านมาแทบจะไม่ตอบโจทย์ผู้สูบบุหรี่ ดังนั้น หากประเทศไทยจะยังคงทำตามแนวทางเดิม โดยไม่พิจารณาวิธีการใหม่ เราก็คงจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากเดิม
อย่างไรก็ดี มองว่า การห้ามหรือแบนอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ จึงต้องการเห็นการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า แล้วกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถออกมาตรการอื่น ๆ ตามมาเพื่อกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ควบคุมการซื้อ การขาย และการใช้ได้ การซื้อขายใต้ดินก็จะลดลง และรัฐบาลยังเก็บภาษีสรรพสามิตได้อีกด้วย
"ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลฯ นำปัญหามาทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มวนถึงปีละ 70,000 คน ทั้งที่เราช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่เหล่านี้ได้”