ดาวน์โหลดแอปฯ "หมอกทม." ทำอย่างไร มีบริการอะไรบ้าง เช็กเลย

04 มี.ค. 2565 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 16:42 น.

ดาวน์โหลดแอปฯ "หมอกทม." ทำอย่างไร มีบริการอะไรบ้าง อ่านครบจบที่นี่ ชี้เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ระบุเข้าถึงโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพฯ ได้ 11 แห่ง

กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น "หมอกทม." โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กับธนาคารกสิกรไทย  ในโครงการ Smart OPD 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันในการให้บริการทางการแพทย์ผ่าน แอปฯ หมอกทม. ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ และอำนวยความความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการรักษาทางการแพทย์ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

แอปฯ"หมอกทม." เป็นการรวบรวมข้อมูลสุขภาพ ให้เป็นระบบระเบียบ และอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน  ซึ่งผู้ใช้บริการ เพียงดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น หมอกทม. เพียงแอปฯเดียว ก็สามารถเข้าถึง โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ ทั้ง 11 แห่ง สามารถรองรับคนไข้นอกกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยจะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลกลาง ก่อนจะขยายการบริการให้ครบทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ภายในเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน

วิธีดาวน์โหลดแอปฯ หมอกทม.

  • การลงทะเบียน ในการใช้บริการ จะต้องใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ในการลงทะเบียน
  • การยืนยันตัวตนในระบบ ระหว่างการลงทะเบียนระบบจากส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนเท่านั้น

 

ดาวน์โหลดแอปฯ "หมอกทม." ทำอย่างไร มีบริการอะไรบ้าง

 

  • ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ใช้ในการลงทะเบียน จะเก็บข้อมูลการลงทะเบียนของท่านสำหรับประมวลผล เพื่อรับโปรโมชั่นที่เหมาะสม ได้แก่ เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นการอ้างอิงในการรับSMS
  • การขออนุญาตเข้าถึงการแจ้งเตือนบนแอปฯ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนถึงข้อมูลต่างๆ จากระบบ
  • การเข้าถึงตำแหน่ง เพื่อประมวลผลในการรับบัตรคิวของผู้ใช้งาน 

บริการสำคัญในแอปฯ หมอ กทม. 

  • นัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบรายการนัดหมาย แจ้งเตือนการนัดหมาย และกดรับบัตรคิวในแอปฯ
  • ตรวจสอบสิทธิการักษาพยาบาล อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
  • ตรวจสอบสถานะคิวตรวจ แจ้งลำดับคิว และขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาล
  • ลงทะเบียนตรวจรักษา บริการลงทะเบียนตรวจรักษาโรค จองวันเข้ารับการตรวจรักษาได้ง่าย  ผ่านแอปฯ
  • ประวัติการรักษา ตรวจสอบผลวินัจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้สะดวก โดยเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
  • แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยฟีเจอร์แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแชร์โลเคชันเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์เอราวัณ
  • ตรวจรักษาออนไลน์ บริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) โดยสามารถตรวจรักษา ติดตามอาการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวีดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน

 
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ ทั้ง 11 แห่ง 

  • โรงพยาบาลกลาง 
  • โรงพยาบาลตากสิน
  • โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  • โรงพยาบาลสิรินธร
  • โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
  • โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
  • โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  • โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
  • โรงพยาบาลคลองสามวา
  • โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565