นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุผนังอาคารล้มทับคนงานจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ตนรู้สึกเสียใจต่อการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้รับเหมาเสียชีวิตถึง 3 ราย และขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิต พร้อมกำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมด้วยสำนักงานประกันสังคม เข้าตรวจสอบดูแลสิทธิประโยชน์และเงินทดแทนต่าง ๆ อย่างเต็มที่
โดยอุบัติเหตุในครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณโครงการก่อสร้างภายในบริษัท เอจีซี ไมโคร กลาส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ในระหว่างที่ผู้รับเหมาทั้ง 3 ราย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท ซี.เค. แมคคานิค จำกัด กำลังติดตั้งระบบท่อน้ำประปาบริเวณพื้นที่ส่วนที่เป็นห้องน้ำด้านข้างของผนังกำแพงอาคาร และมีรถกระเช้า (Boom lift) ที่ปฏิบัติงานใกล้เคียงอยู่ข้างผนังซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.พี.สตีล เอ็นจิเนียริ่ง ผู้รับเหมาช่วงของบริษัท ไทยทาเคนาคา สากลก่อสร้าง จำกัด
ซึ่งปรากฏว่าขณะบังคับรถกระเช้าเพื่อส่งคนงานขึ้นประกอบโครงสร้างฝ้าเพดาน แขนของรถกระเช้าเบียดชนกับนั่งร้านทำให้กระแทกกับฝาผนังปูนจนล้มทับผู้ติดตั้งระบบท่อน้ำ เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 2 ราย คือ นายปฏิพนธ์ อุดทาธิ อายุ 20 ปี และนายสุริยา ปันจุติ อายุ 37 ปี และอีกหนึ่งรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล คือ นายชิษนุพงศ์ อยู่เย็น อายุ 45 ปี
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ที่ญาติผู้เสียชีวิตพึงได้กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทนอย่างเต็มที่ โดยนายชิษนุพงศ์ฯ เป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับค่าเสียชีวิต (จัดการทำศพ) 50,000 บาท และเงินชราภาพ 50,108 บาท นายปฏิพนธ์ฯ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับเงินกรณีเสียชีวิต 25,000 บาท และนายสุริยาฯ เคยอยู่ในระบบผู้ประกันตน จะได้รับเงินชราภาพ 2,241 บาท และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบการดำเนินงานตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องหรือไม่อย่างไร
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. ได้ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูนเข้าตรวจสอบเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 5 (ลำปาง) และสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงในวันที่ 8 มีนาคม 2565 ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ ซึ่งถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป