ยอดผลตรวจATK ในปัจจุบันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นตัวเลขที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก เพราะผลตรวจที่พบในแต่ละวันค่อนข้างสูงอย่างมาก
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
Q: รู้ไหมว่าจำนวนคนที่ "ตรวจ ATK" เป็นผลบวกตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้มีเท่าไหร่?
A: จากข้อมูลที่ทางกรมควบคุมโรครายงาน ATK ในเว็บ เริ่มตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันนี้ 6 มีนาคม 2565
มีจำนวนคนที่ตรวจพบว่าเป็นผลบวกจาก ATK ไปแล้วทั้งสิ้น 910,899 คน
ทั้งนี้ตัวเลขจาก ATK ไม่ได้รับการนำมารวมกับจำนวนที่ตรวจด้วย RT-PCR
แม้มีคนที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้วไปตรวจ RT-PCR แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย เพราะข้อจำกัดเชิงศักยภาพของระบบตรวจ RT-PCR และปัญหาค่าใช้จ่ายในการตรวจ
ดังนั้นหากลองเอาตัวเลข 910,899 คนมารวมกับยอดติดเชื้อสะสมที่ทางการรายงานสู่สาธารณะ 3,026,695 คน โดยประเมินว่าสัดส่วนคนที่ตรวจ ATK ไปตรวจ RT-PCR ได้ไม่เกิน 25%
จะทำให้ยอดสะสมเป็น 3,709,870 คน
เขยิบจากอันดับ 33 เป็นอันดับ 22 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ต่อให้จำนวนติดเชื้อจริงจะเป็นเช่นไร หลักสำคัญในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ระบาดคือ การตระหนักรู้ว่าไม่ติดเชื้อนั้นย่อมดีที่สุด และวิธีป้องกันที่ดีที่สุดที่ทำได้ด้วยตนเองคือ ใส่หน้ากาก เจอคนต้องเว้นระยะห่างและใช้เวลาสั้นๆ และไม่แชร์ของกินของใช่ร่วมกับคนอื่น
หมอธีระยังโพสอีกว่า
กลางมกราคม เค้าประกาศว่าขาลง
ตอบกลับไปโดยบอกว่า ตามธรรมชาติของโรคที่เห็นจากทั่วโลกแล้ว เรายังไม่ได้เข้าสู่ขาขึ้น ดังนั้นไม่ใช่ขาลงอย่างแน่นอน
ไม่กี่วันก่อน เค้าบอกว่าขาขึ้น และมีโอกาสพีคตอนเมษา
อยากตอบกลับไปว่า ตามธรรมชาติของโรคที่เห็นจากทั่วโลกแล้ว ถ้าเราเหมือนประเทศส่วนใหญ่ที่เผชิญมาก่อน ก็ควรจะพีคช่วง 27 กุมภาพันธ์ เบี่ยงเบนได้ราว 1 สัปดาห์ นั่นคือช่วงสัปดาห์นี้ แล้วควรจะเข้าสู่ขาลง ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าขาขึ้นราว 1.5 เท่า
พีคนั้นมักสูงกว่าระลอกก่อนราว 3.65 เท่า
ส่วนขาลงนั้นจะลงไปถึงระดับใด ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะคาดการณ์ได้ หากปัจจัยเชิงนโยบาย เปิดรับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมาก และพฤติกรรมการป้องกันไม่เข้มแข็งเพียงพอ จำนวนติดเชื้อรายวันก็จะอยู่ในระดับสูง
และหากมีเทศกาลต่างๆ เข้ามา การปะทุก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เราเห็นในทุกระลอกที่ผ่านมา
หากถามว่ากังวลเรื่องใด นอกจากเรื่องการป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มคนที่สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว ที่ห่วงสุดคือ Long COVID ที่จะเป็นผลกระทบระยะยาวทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว และสังคม
จึงอยากให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ป้องกันตนเองและครอบครัวให้เต็มที่ ปลอดภัยไปด้วยกัน