ดาวเทียมพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 854 จุด

07 มี.ค. 2565 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2565 | 10:49 น.

GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 6 มี.ค.65 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 854 จุด เพิ่มขึ้น 361 จุด

วันที่ 7 มี.ค.64 GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 6 มีนาคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 854 จุด เพิ่มขึ้นจากวานก่อน 361 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 274 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 257 จุด พื้นที่เกษตร 171 จุด พื้นที่เขตสปก. 90 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 55 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด

 

ดาวเทียมพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 854 จุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน 170 จุด เชียงใหม่ 104 จุด ลำปาง 77 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กระจายตัวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือซึ่งวันนี้พบมากถึง 427 จุด สอดคล้องกับเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น

 

ส่วนเช้าวันนี้ พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อยู่ในระดับปานกลาง อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 6 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 9,519 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 8,132 จุด และภาคกลาง 5,070 จุด ตามลำดับ

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับหนึ่งยังคงเป็นของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งวันนี้พบ 3,149 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,019 จุด และอันดับที่ 3 เป็นประเทศไทย จำนวน 854 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในประเทศไทย เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วยนะครับ

 

ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)