ที่มาและความหมาย “วันสตรีสากล” 8 มีนาคม

08 มี.ค. 2565 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 09:08 น.

วันสตรีสากล ตรงกับวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี เป็นวาระที่โลกได้ร่วมกันรำลึกถึงวันที่แรงงานสตรีโรงงานทอผ้าในเมืองชิคาโก ได้เคยเดินประท้วงต่อต้านการถูกเอาเปรียบ กดขี่ และทารุณจากนายจ้าง เวลาผ่านมากว่าศตวรรษ โลกได้ทบทวนกันทุกปีว่า สถานะของสตรีในวันนี้ ดีขึ้นแล้วหรือยัง

วันสตรีสากล (International Women's Day หรือ IWD) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม เกิดจากการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1907 (พ.ศ.2450) หลังจากที่สาวโรงงานทอผ้าในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือขึ้นมาชุมนุมประท้วงเนื่องจากพวกเธอถูกนายจ้างเอาเปรียบ กดขี่ และทารุณ โดยสตรีในโรงงานทอผ้าต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ส่วนหญิงสาวที่ตั้งครรภ์มักจะถูกบีบบังคับให้ลาออก

 

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค.1857 (พ.ศ.2400) ก็ได้มีการประท้วงของแรงงานสตรีในโรงงานทอผ้าแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งผลของการประท้วงเรียกร้องค่าจ้างและสิทธิแรงงาน กลับทำให้มีคนงานผู้หญิงถึง 119 คน ต้องสังเวยชีวิตเนื่องจากมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่

 

ความอัดอั้นตันใจกับเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันขณะนั้น ทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มี.ค.1907 เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย


แม้การเรียกร้องดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น ต่อมาในวันที่ 8 มี.ค.1908 (พ.ศ.2551) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

 

พลังสตรีสร้างโลก

จากนั้นในวันที่ 8 มี.ค.1910 (พ.ศ. 2453) ข้อเรียกร้องที่เหล่าลูกจ้างหญิงต้องการก็ได้รับการตอบสนอง เมื่อตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

 

ที่ประชุมได้ให้การรับรองข้อเรียกร้องของเหล่าลูกจ้างสตรี ที่เรียกว่า "ระบบสาม8" คือ ยอมให้ลดเวลาการทำงานเหลือเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนที่เหลืออีก 16 ชั่วโมงให้เป็นเวลาหาความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพตัวเอง 8 ชั่วโมง และเป็นเวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ ยังกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับแรงงานของผู้ชาย รวมถึงมีการคุ้มครองสวัสดิการของสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

 

ชัยชนะซึ่งเปรียบเสมือนก้าวแรกจากการประชุมที่เมืองโคเปนเฮเกน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล

สัญลักษณ์วันสตรีสากล

 

วันสตรีสากล ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย และอีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติของตน กลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนา


ผลจากการตัดสินใจของที่ประชุม ณ กรุงโคเปนเฮเกน ทำให้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากล ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1911 ในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งหญิงชายมากกว่า 1 ล้านคน เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการอบรมในวิชาชีพ และให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน

 

ในปีถัดมาได้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลเพิ่มขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน และในปี ค.ศ. 1913 มีการจัดชุมนุมวันสตรีสากลในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางก็ตาม วันสตรีสากลได้จัดขึ้นโดยเชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรปนับตั้งแต่ปีแรกๆ เป็นต้นมา ความสำคัญของการฉลองวันสตรีสากลได้ทวีมากขึ้น โดยมีสตรีในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา เริ่มร่วมมือกันเพื่อทบทวนความก้าวหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพยายามผลักดันให้มีการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของ สตรีอย่างสมบูรณ์


ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม ในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม

 

ที่มาสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์