โควิดวันนี้รวมatk ติดเชื้อพุ่ง 5.3 หมื่นคน หมอธีระเตือนอย่าประมาทคำว่าขาลง

09 มี.ค. 2565 | 01:39 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 08:39 น.

โควิดวันนี้รวมatk ติดเชื้อพุ่ง 5.3 หมื่นคน หมอธีระเตือนอย่าประมาทคำว่าขาลง ชี้หากต่างกันไม่มาก ลงช้า ใช้เวลานาน จำนวนทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงย่อมมากกว่าขาขึ้น


โควิดวันนี้รวมatk ยังคงเป็นตัวเลขของการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ และติดตาม 

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

  • 22,073

 

  • ATK 31,890

 

  • รวม 53,963

 

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1,094 คน เป็น 1,200 คน เพิ่มขึ้น 9.68%

 

ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 310 คน เป็น 404 คน เพิ่มขึ้น 30.32%
 

อย่าประมาทกับคำว่า"ขาลง"

 

ขาลงนั้น แม้แต่ละวันจะมีจำนวนน้อยกว่าพีค แต่หากต่างกันไม่มาก ลงช้า ใช้เวลายาวนาน จำนวนทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงย่อมมากกว่าขาขึ้น

 

ฟังข่าวเช้านี้แล้วเป็นห่วงว่า ประโคมข่าวว่าผ่านพ้นพีคมาแล้ว จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าสบายใจ ลัลล้าได้ ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย

 

ควิดวันนี้รวมatk ติดเชื้อพุ่ง 5.3 หมื่นราย

 

ย้ำอีกครั้งว่าตามธรรมชาติการระบาดที่เห็นจากทั่วโลก ขาลงจะนานกว่าขาขึ้นราว 1.5 เท่า คาดว่าไทยเราอาจต้องใช้เวลาราว 42 วัน

 

จำนวนคนติดเชื้อรวมในขาลงมีแนวโน้มจะมากกว่าขาขึ้นได้หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ

 

การตัดสินใจนโยบายและมาตรการระดับมหภาคต้องระมัดระวังให้ดี ถ้าผิดทิศผิดทาง ไปตามกิเลส จะเหมือนหลายประเทศในยุโรปตอนนี้ที่หนักขึ้นในเวลาไม่นาน

 

หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า 

 

ยุโรปหลายประเทศติดเชื้อเพิ่มขึ้น และตายเพิ่มขึ้น

 

แนวโน้มไม่ค่อยดีนัก หลังจากประเทศต่างๆ ในยุโรปผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการป้องกัน และเสรีการใช้ชีวิต เพราะเชื่อว่าจะเอาอยู่ 
 

ทั้งสหราชอาณาจักร สเปน เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ โปรตุเกส ออสเตรีย และฟินแลนด์ มีแนวโน้มอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นชัดเจน 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักร ที่เพิ่งยกเลิกมาตรการควบคุมไปเมื่อไม่นานมานี้ กำลังประสบปัญหาจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าน่าจะไม่ใช่เป็นผลหลักโดยตรงจากการระบาดของสายพันธุ์ BA.2 ของ Omicron แต่น่าจะเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการใช้ชีวิต ละเลยการป้องกัน 

 

และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงตามกาลเวลาหลังจากฉีดเข็มกระตุ้นไปหลายเดือน

 

สิ่งที่ไทยเราควรเรียนรู้จากบทเรียนจากต่างประเทศข้างต้นคือ 

 

หนึ่ง วัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อลงได้บ้าง และลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้บ้างก็จริง แต่ไม่ได้การันตี 100% ทั้งนี้ประสิทธิภาพขึ้นกับชนิดของวัคซีนที่ใช้ และประสิทธิภาพจะลดน้อยถอยลงตามเวลาที่ผ่านไปได้ 

 

สอง หัวใจสำคัญในการอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คือ "การป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นกิจวัตร"

 

การใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนที่ใกล้ชิด และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เหล่านี้คือเกราะป้องกันที่จะช่วยให้มีโอกาสอยู่รอดปลอดภัย