รู้จักมะเร็งปอด โรคร้ายคร่าชีวิต สรพงษ์ ชาตรี -เศรษฐา ศิระฉายา

11 มี.ค. 2565 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 16:32 น.

เจาะลึกโรคร้าย "มะเร็งปอด"คร่าชีวิตคนดัง "สรพงษ์ ชาตรี" - "เศรษฐา ศิระฉายา" เช็คเลยมะเร็งปอดมีกี่แบบ ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมีอะไรบ้าง -อาการบ่งชี้แบบไหนที่น่าสงสัย -การรักษามีกี่วิธีพร้อมการดูแลตัวเองหลังการรักษาโรค ตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดที่นี่

ปี 2565 วงการบันเทิงไทยสูญเสียนักแสดงชื่อดังอย่าง สรพงษ์ ชาตรี และ เศรษฐา ศิระฉายา จากโรคมะเร็งปอด ซึ่งโรคดังกล่าวถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดในผู้ป่วยมะเร็งโดยรวมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก (ข้อมูลอ้างอิงจาก สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

 

วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ชนิดของมะเร็งปอด ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค อาการของโรคมะเร็งปอด ความแตกต่างระหว่างมะเร็งปอดและวัณโรค การวินิจฉัยและการรักษา ระยะของมะเร็งปอด และการดูแลรักษาสุขภาพภายหลังการรักษาโรคดังกล่าว มานำเสนอ

 

รู้จักโรคมะเร็งปอด 

มะเร็งปอด เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของปอดเจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยเนื้อร้ายนี้สามารถลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะอยู่ในระยะโรคที่รุนแรงแล้ว 

 

มะเร็งปอดมีกี่ชนิด

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน

 

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี

 

  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด


ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น

  • บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
  • การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
  • อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่

 

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้อีก
 

อาการของโรคมะเร็งปอด


โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • ไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ)
  • มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
  • ไอมีเลือดปน
  • เสียงแหบ
  • ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่น ปอดบวม
  • เหนื่อยง่ายหรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

อนึ่ง อาการเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็ง เนื่องจากมีหลายโรคที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด

 

มะเร็งปอดกับวัณโรค

อาการไอแล้วมีเลือดปนเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งปอด และก็สามารถพบได้ในโรควัณโรค ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคก็มักจะมีการอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้ก็มักจะมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วย ทำให้การแยกโรคมะเร็งปอดและโรควัณโรคออกจากกันได้ยากจากอาการดังกล่าว 

 

การตรวจเบื้องต้นและการวินิจฉัยมะเร็งปอด
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด หากพบความผิดปกติ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย  

  • การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
  • การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ/เลือด 


ระยะของมะเร็งปอด
ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย  


สำหรับระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะจำกัดของขนาดมะเร็ง (limited stage) เป็นระยะที่มะเร็งจะอยู่ในบริเวณปอดเท่านั้น
  • ระยะการแพร่กระจาย (extensive stage) เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ระยะของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1    

  • พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ระยะที่ 2     

  • ระยะที่ 2A    มะเร็งมีขนาดเล็กและพบแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
  • ระยะที่ 2B    มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยและแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด หรือ เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น เช่น ที่ผนังทรวงอก

ระยะที่ 3     

  • ระยะที่ 3A    เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นที่ห่างจากปอด หรือพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ปอด และเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอก
  • ระยะที่ 3B    เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้านของช่องอกหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือเนื้องอกเจริญเติบโตในอีกด้านของช่องอก เช่น หัวใจ หลอดอาหาร หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบๆ ปอด

ระยะที่ 4 

  • มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก สมอง
     

 

การรักษามะเร็งปอด

  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสี (radiotherapy)
  • การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) 
  • การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) 
  • การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) 
  • การรักษาด้วยการผสมผสาน 

 

การดูแลตนเองภายหลังการรักษา

  • หากยังสูบบุหรี่อยู่ ควรหยุดทันที
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น ควรออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอดและหัวใจให้ดีขึ้น
  • พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น

 

ที่มาข้อมูล