นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 5-11 มีนาคม 65 มีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส จำนวน 1,961 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอนถึง 99.7 % พบการติดเชื้อเดลตาแค่ 6 คน และหากมีการจำแนกตามสายพันธุ์ย่อยจะพบว่า เป็น BA.1 ถึง 32.4%, เป็น BA.2 ถึง 67.6%
ทุกสัปดาห์กรมวิทย์ฯ มีถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส และส่งเป็นฐานข้อมูลให้ GISAID พบว่าในสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนมีมากถึง 3 สายพันธุ์ มีทั้ง BA.1, BA.2 และ BA.3 พบเหมือนกันทั่วโลก และในส่วนของสายพันธุ์ BA.2 ก็มีย่อย ถึง BA.2.1, BA.2.2 และ BA.2.3 ซึ่งก็เหมือนกันเดลตา ที่มีการกลายพันธุ์ และเกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย
ล่าสุด ไทยก็พบที่ 4 คน เป็นชาวต่างชาติ 1 คน และไทย 3 คน มีโอกาสเข้าข่ายพบโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2.2 ที่พบในฮ่องกง เนื่องจากพบตำแหน่งการกลายพันธุ์ ในสไปก์โปรตีน ที่ S:l1221T (ไอ1221ที) แต่ยังต้องติดตามข้อมูลจากทั่วโลก ว่าตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการแพร่เร็ว หรือรุนแรง หรือเสียชีวิต และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่
ขณะนี้ทั่วโลกก็ยังจับตา BA.2.2 และคาดว่าประมาณ 2-3 วัน GISAID จะสามารถกำหนดชื่อให้กับ BA.2.2 ที่ขณะนี้พบในฮ่องกง และอังกฤษ แต่ต้องพิจารณาและทำความเข้าใจว่า อัตราเสียชีวิตที่มากขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว การเสียชีวิตต้องใช้เวลา มีการเจ็บป่วยและติดเชื้อเป็นสัปดาห์
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อ โอไมครอนBA.2.2 ที่พบในไทย ทั้ง 4 คน ให้การรักษาตามปกติ ไม่ได้แตกต่างจากทั่วไป และเชื่อว่าบางส่วนหายป่วยแล้ว