รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
19 มีนาคม 2565 ทะลุ 467 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,606,339 คน ตายเพิ่ม 4,901 คน รวมแล้วติดไปรวม 467,650,822 คน เสียชีวิตรวม 6,092,865 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 88.06% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 67.53%
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 35.62% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 30.56%
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก
ข้อจำกัดของภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์ Omicron (โอมิครอน)
ล่าสุดงานวิจัยจาก UCSF สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลกอย่าง Cell เมื่อ 17 มีนาคม 2565 ชี้ให้เห็นว่า ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด Neutralizing antibody ที่เกิดจากการติดเชื้อ Omicron นั้นน้อยกว่าการที่ได้จากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถึง 3 เท่า
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ พบว่า การติดเชื้อ Omicron จะมีระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาราว 10 เท่า
ด้วยข้อมูลต่างๆ ข้างต้น การติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron มาก่อน อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากสายพันธุ์อื่นในอนาคต
ดังนั้น New Normal ในอนาคตที่เราจะเห็นนั้น จึงไม่น่าจะใช่ฉากทัศน์ที่บางหน่วยงานคาดหวังในอีกไม่กี่เดือนว่าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยใช้ชีวิตแบบปกติในอดีตที่คุ้นชิน
ควรยอมรับความจริงที่ยืนบนหลักฐานความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และนำมาออกแบบรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคม ปรับแต่งระบบ โครงสร้าง กระบวนการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยกว่าในอดีต
ความปกติในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่ความปกติอันตรายในอดีตที่เราคุ้นชิน จนกว่าการระบาดทั่วโลกจะอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ