โควิดวันนี้รวมatk ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1414 คน เป็น 1,615 คน เพิ่มขึ้น 14.21%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 512 คน เป็น 640 คน เพิ่มขึ้น 25%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 12.87% และมากกว่าสองสัปดาห์ก่อน 6.56%
ถือเป็นแนวโน้มของการติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าทั้ง 1 และ 2 สัปดาห์ก่อน ติดต่อกันเป็นวันที่ 2
บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มถึง 382 คน (ชาย 71, หญิง 311)
หมอธีระยังโพสด้วยว่า
ความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)
ทีมวิจัยจากฮ่องกง ทำการศึกษาในฐานข้อมูลประชากรอายุ 50-87 ปี จำนวน 412,096 คน ใน UK Biobank (UKBB) เพื่อดูแนวโน้มการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ กว่า 135 โรค
พบว่า คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องรักษาในโรงพยาบาลมาก่อนนั้น หากติดตามไปเฉลี่ยย 608 วัน (ราว 1 ปี 8 เดือน) จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยจากสาเหตุต่างๆ จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเสี่ยงที่จะเสียชีวิต มากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
โดยคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ (All cause mortality) มากกว่าคนไม่ติดเชื้อ ราว 14.7 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.83-15.61 เท่า)
ที่สำคัญกว่านั้นคือ คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 โดยมี"อาการเล็กน้อย (mild)" นั้น จะยังคงมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคต่างๆ (All cause mortality) ได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ 1.23 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.03-1.47 เท่า)
ทั้งนี้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท (neurocognitive disorders) มากกว่าคนไม่ติดเชื้อ 9.1 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 5.59-14.81 เท่า)
ผลการวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างเต็มที่ เป็นกิจวัตร เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน แล้วรักษาหายแล้ว ไม่ว่าจะอาการน้อยหรือมากก็ตาม ก็ควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อที่จะได้ทำการดูแลรักษาอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ในร่างกายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และควรดูแลสุขภาพให้ดี ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะบั่นทอนสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ สารเสพติด ฯลฯ