เตือนไข้เลือดออกระบาดพร้อมโควิด สังเกตอาการแบบไหนที่มีความเสี่ยง

26 มี.ค. 2565 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2565 | 13:28 น.

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ห่วงใยสุขภาพประชาชนเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกในช่วงพายุฤดูร้อน แนะสังเกตอาการใกล้ชิด แบบไหนที่มีความเสี่ยง เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมเตือนภัยอันตรายจากสัตว์ดุร้ายและมีพิษที่มาพร้อมฝน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงที่สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากพายุฤดูร้อน เกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก 

 

จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยสอดส่อง ดูแล ประชาชน รวมทั้ง ป้องกัน ทำลาย แหล่งเพาะเชื้อยุง เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 

 

สำหรับข้อแนะนำ และสังเกตอาการ มีดังนี้

  • หากมีอาการป่วย มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด 
  • ปัจจุบันมีการระบาดของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนว่าเป็นอาการของโรคใดจนอาจได้รับการรักษาล่าช้า และแม้มีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน เช่น มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย 
  • หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ และเมื่อดูอาการครบ 48 ชม. แล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

 

รวมทั้งยังได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่มีพาหะจากยุง รวมถึงการใช้ยาให้ถูกโรค และต้องมีแพทย์หรือเภสัชกรคอยแนะนำเสมอ โดยกลุ่มอาการของ ไข้เลือดออก เช่น 

  • มีไข้สูง 
  • อ่อนเพลีย 
  • ถ่ายเหลว 
  • อาเจียน 
  • รู้สึกระสับกระส่าย 
  • เริ่มมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง 

 

แตกต่างจากโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการปัญหาระบบทางเดินหายใจและมีสารคัดหลั่งที่ชัดเจน เช่น 

  • เป็นหวัด 
  • น้ำมูกไหล 
  • ไอ 
  • มีเสมหะ 
  • เจ็บคอ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถิติการเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้เลือดออกระหว่างปี 2563-2564 พบว่า

  • ปี 2562 เคยสูงถึง 131,157 ราย
  • ปี 2563 ลดลงเหลือ 72,130 ราย 
  • ปี 2564 ลดลงเหลือ 8,754 ราย 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้อาจมีการระบาดเพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการเคร่งครัด บังคับใช้มาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกในทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อสำรวจและพ่นสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย รณรงค์การกำจัดยุงลายผ่านมาตรการ 3 เก็บ คือ 

  • เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก 
  • เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 
  • เก็บน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงวางไข่ 

 

เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ

  • โรคไข้เลือดออก 
  • โรคไวรัสซิกา 
  • โรคปวดข้อยุงลาย

นอกจากอันตรายของโรคไข้เลือดออกแล้ว ในฤดูนี้ยังมีอันตรายจากสัตว์ดุร้ายและมีพิษที่มาจากการหลบฝนหนีน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แมลงก้นกระดก รวมถึงพยาธิที่อาศัยในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ลดความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชนเสมอมา 

 

โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางด้านสาธารณสุขเพื่อรับมืออุบัติเหตุจากสัตว์ร้ายและมีพิษกัด ต่อย ในช่วงมีฝน ให้คำแนะนำด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งผู้ป่วยถึงมือหมอ

 

พร้อมเชิญชวนประชาชนในการดูแลตนเอง เช่น หมั่นสำรวจบริเวณบ้าน จัดระเบียบของให้สะอาดตาเพื่อลดมุมอับที่สัตว์สามารถเข้าไปอยู่ได้ ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมในเครื่องนุ่งห่มก่อนสวมใส่ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน และเมื่อพบสัตว์มีพิษให้เรียกผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เป็นต้น

 

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน เนื่องจากภูมิอากาศของไทยที่เปลี่ยนแปลงบ่อยส่งผลต่อปัจจัยการเกิดโรค และปัจจัยอันตรายอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ เตรียมพร้อมรับมือ และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างสุดความสามารถ เพื่อปกป้องประชาชนจากความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น”

 

นอกจากนี้ นายกฯ ยังขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทุกคนให้ระมัดระวัง ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการ และคำแนะนำด้านการป้องกันโรคติดต่อจากรัฐบาลเพื่อลดความเสี่ยง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน