ตำรวจแนะ 3 แนวทางป้องกัน “มิจฉาชีพออนไลน์” รู้ไว้ห่างไกลภัยไซเบอร์

26 มี.ค. 2565 | 18:28 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2565 | 06:15 น.

ตำรวจเตือนภัยการนำข้อมูลส่วนตัวลงสื่อออนไลน์ อาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้สร้างความเสียหาย แนะ 3 แนวทางป้องกันและการดำเนินการหากถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ ต้องจัดการอย่างไร

จากกรณีมีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอเกี่ยวกับ การนำข้อมูลบัตรประชาชน หรือ ข้อมูลส่วนตัว ไปซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แล้วถูก มิจฉาชีพ นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แอบอ้างหรือสร้างความเสียหาย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีความห่วงใยต่อภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

 

ในส่วนของตำรวจนั้น เพื่อเป็น การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับและสั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้องทำการสืบสวนสอบสวน จับกุม ปราบปรามภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบตามกฎหมายอย่างจริงจัง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ได้สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงภัยดังกล่าวและแนวทางในการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

ตำรวจเตือนภัยการนำข้อมูลส่วนตัวลงสื่อออนไลน์ อาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้สร้างความเสียหาย

ที่มาและรูปแบบการก่อคดี

ยกตัวอย่างกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอเกี่ยวกับการนำข้อมูลบัตรประชาชนหรือข้อมูลส่วนตัวไปใช้สำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่ง อาจจะถูกมิจฉาชีพปลอมลายมือชื่อลงในสำเนาบัตรประชาชนแล้วนำไปใช้ในการกระทำความผิด หรือหลอกลวงผู้อื่น หากมีการแก้ไขข้อความในช่องชื่อ นามสกุล วันออกบัตร หรือวันหมดอายุ ลงในสำเนาบัตรประชาชน ไม่ว่าจะนำไปถ่ายสำเนาใหม่อีกครั้ง ถือเป็นการสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะเป็นเพียงการแก้ไขข้อความลงในสำเนาบัตรประชาชนก็ตาม

 

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวหากมีการกระทำผิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยังเข้าข่ายความผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจแนะ 3 แนวทางป้องกัน “มิจฉาชีพออนไลน์” รู้ไว้ห่างไกลภัยไซเบอร์

แนะ 3 แนวทางป้องกันและดำเนินการ

รองโฆษก ตร. กล่าวแนะนำ แนวทางในการป้องกันและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ 3 ข้อ ดังนี้

  1. หากถูกมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลบัตรประชาชน บัตรเครดิตหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้แจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัตรและปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  2. สามารถเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
  3. ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลบัตรประชาชน หรือ บัตรเครดิตด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตร ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านลิงค์ที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการกดลิงค์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือ สื่อสังคมออนไลน์ และหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก