จากกรณี "ไฮโซปลาวาฬ" หรือนายวรสิทธิ อิสสระ ‘ปลาวาฬ’ อายุ 40 ปี ทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโรงแรมศรีพันวา ขับรถยนต์ยี่ห้อหรูเบนท์ลี่ย์สีดำ หมายเลขทะเบียน 1ขษ7426 กรุงเทพ และเกิดอุบัติเหตุขับรถเสียหลักแหกโค้ง ชนราวเหล็กริมทางบนถนนเพชรเกษม บริเวณโค้งบ้านขนิม ม.7 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ก่อนรถเกิดไฟลุกไหม้ทั้งคันเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 24 มี.ค.65 ที่ผ่านมา บนถนนเพชรเกษม สายเขาหลัก-อำเภอท้ายเหมือง บริเวณโค้งบ้านขนิม ม.7 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
ต่อมาเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบจุดเกิดเหตุในเบื้องต้นพบการ์ดเลน หรือราวกั้นทางโค้ง ได้รับความเสียหาย มีความยาวประมาณ 30 เมตร เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย แต่ยืนยันว่าไม่ต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เนื่องจากไม่มีคู่กรณี หรือผู้ได้รับบาดเจ็บ
ล่าสุดมีนักกฎหมายออกมาวิจารณ์ว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สั่งให้ผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด อาจเข้าข่ายจงใจช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้ไม่ต้องรับโทษ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามมาตรา 157
เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 43 (2) ห้ามขับขี่รถยนต์ในขณะเมาสุรา ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 160 ตรี จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับ 5,000-20,000 บาท และสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 6 เดือน และในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราขณะขับขี่หรือไม่ ถ้าผู้ขับขี่ขัดขืนมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถขณะเมาสุราแม้ไม่ยอมทดสอบ และในกรณีที่รถยนต์มีประกันภัยภาคสมัครใจ หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้น และน่าเชื่อว่าจะมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ
บริษัทประกันฯ จะต้องขอให้มีผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ มาประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเมาแล้วขับ บริษัทประกันภัยรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน
ต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าวล่าสุด พ.ต.อ.บริบูรณ์ อยู่สุขสมบูรณ์ ผกก.สภ.ท้ายเหมือง ชี้แจงว่า หลังจากพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งว่า มีรถประสบอุบัติเหตุและเพลิงไหม้รถ จึงเดินทางไปตรวจสอบพบนายวรสิทธิ อิสสระ ผู้ขับขี่ และนายธนันชัย เดชจักรทิพย์ ผู้โดยสาร ทางพนักงานสอบสวนและสายตรวจตำบล ได้สอบถามพูดคุยอยู่ประมาณ 10 นาที ไม่พบกลิ่นแอลกอฮอล์ที่บุคคลทั้ง 2 จึงไม่ได้สงสัยว่าผู้ขับขี่ได้เมาสุราในขณะขับรถ
ในส่วนเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ของสภ.ท้ายเหมืองมีอยู่ จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งได้ส่งคืน ภ.จว.พังงา เพื่อตรวจมาตรฐานการวัดค่าไปยังบริษัท ช.แอดวานซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผ่านทางภ.จว.พังงา เมื่อวันที่ 24 เดือน ก.พ.2565 และล่าสุดได้รับแจ้งว่าบริษัท ฯ ยังไม่ได้ส่งเครื่องตรวจแอลกอฮอล์กลับมาที่ ภ.จว.พังงา ซึ่งกรณีหากตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีอาการเมาสุรา เจ้าหน้าที่จะทำการส่งตัวไปตรวจโลหิตที่โรงพยาบาลท้ายเหมือง เพื่อวัดค่าแอลกอฮอล์ในโลหิตต่อไป และหากผู้ขับขี่ไม่ให้ความร่วมมือ ทางโรงพยาบาลจะบันทึกเป็นหลักฐานส่งร้อยเวรต่อไป
ส่วนการดำเนินคดีกับปลาวาฬนั้นทางพนักสอบสวนสภ.ท้ายเหมืองได้เหมืองแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย และได้เปรียบเทียบปรับผู้ต้องหา จำนวน 1,000 บาท (อัตราสูงสุด) แล้ว
ด้านนายอัษฎายุทธ สร้อยทอง อดีตสจ.เขต อ.ท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนที่ไฟยังไม่ได้ลุกไหม้รถ และได้จอดรถลงไปสอบถามพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยที่ไม่เคยรู้จัก ‘ปลาวาฬ’ มาก่อน ยืนยันว่าจากการเข้าไปพูดคุยกับคนขับและเพื่อน ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์หรือมีอาการของคนเมาสุราแต่อย่างใด