นักกฎหมายซัด ตร.อาจผิด ม.157 เมินตรวจแอลกอฮอล์ “ไฮโซปลาวาฬ” หลังซิ่งรถหรูชนราวเหล็กโค้งบ้านขนิม ไฟท่วม อ้างไร้คนเจ็บฟังไม่ขึ้น ยันหากเมาแล้วขับก่อเหตุซ้ำซากควรถึงขั้นพักหรือเพิกถอนใบขับขี่ ชี้กม.จราจร-ประกันภัยภาคสมัครใจเขียนชัดต้องตรวจหาแอลกอฮอล์ก่อนเคลมสินไหม
จากกรณีนายวรสิทธิ อิสสระ หรือ ไฮโซปลาวาฬ อายุ 40 ปี ทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เจ้าของโรงแรมศรีพันวาภูเก็ต ขับรถยนต์ยี่ห้อหรูชนราวเหล็กทางบริเวณถนนเพชรเกษม โค้งบ้านขนิม ม.7 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทำให้ไฟลุกไหม้ทั้งคัน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบจุดเกิดเหตุในเบื้องต้นพบการ์ดเรล หรือราวกั้นทางโค้งได้รับความเสียหาย มีความยาวประมาณ 30 เมตร เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย แต่ยืนยันว่าไม่ต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เนื่องจากไม่มีคู่กรณี หรือผู้ได้รับบาดเจ็บ
ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สั่งให้ผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด อาจเข้าข่ายจงใจช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้ไม่ต้องรับโทษ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามมาตรา 157
เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 43 (2) ห้ามขับขี่รถยนต์ในขณะเมาสุรา ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 160 ตรี จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับ 5,000-20,000 บาท และสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 6 เดือน
และในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราขณะขับขี่หรือไม่ ถ้าผู้ขับขี่ขัดขืนมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถขณะเมาสุราแม้ไม่ยอมทดสอบ และในกรณีที่รถยนต์มีประกันภัยภาคสมัครใจ
หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นและน่าเชื่อว่าจะมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ บริษัทประกันฯ จะต้องขอให้มีผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์มาประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเมาแล้วขับ บริษัทประกันภัยรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน
“การที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าไม่มีคู่กรณีจึงไม่สั่งให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผล อาจเข่าขายเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิด ที่นอกจะกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายแล้ว หากตรวจพบว่าขับรถขณะเมาสุรา ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บด้วยโทษจำคุก 1-5 ปี เมาแล้วขับผิดกฎหมายทุกกรณีไม่ว่าจะมีผู้ได้รับความเสียหายหรือไม่ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอุบัติเหตุรถยนต์เกิดจากการเมาสุราต้องส่งตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกกรณี
อย่างไรก็ตามความผิดฐานเมาแล้วขับ นอกจากศาลมีอำนาจพิพากษาจำคุกและปรับแล้ว ศาลยังมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีการกระทำผิดเมาแล้วขับซ้ำซาก หรือก่อเหตุร้ายแรงจากการเมาและขับ อัยการที่ยื่นฟ้องต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตหรือให้เพิกถอนใบอนุญาตเพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำซากได้” นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ฯ กล่าว.