ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจากการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น ซาร์ เมอร์ส และโควิด-19 (Covid-19)
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
ยาโมลนูพิราเวียร์เพิ่งเข้าประเทศไทย 2 ล้านเม็ด สำหรับคนเพียง 5 หมื่นคน ไม่สามารถให้กับคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคน
ในขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์มีข้อบ่งชี้ให้เฉพาะผู้ติดเชื้อโควิดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง คือ
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น
ฉีดวัคซีนยังไม่ครบ คือ ยังไม่ได้ฉีดเลย ฉีดเข็มเดียว หรือยังไม่ได้เข็มกระตุ้น เริ่มให้กับคนที่อาการน้อยถึงปานกลางภายในเวลา 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
ยานี้ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 30% ห้ามให้กับหญิงตั้งครรภ์ แม่ให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ผู้ป่วยหญิงอายุ 70 ปี เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) ฉีดยายับยั้งทีเอ็นเอฟ (TNF Blockers) Infliximab (Remicade)
และกินยา Salazopyrin ไดัรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเดือนกรกฎาคมและกันยายน 2564 กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็มเดือนธันวาคม 2564
วันที่ 13 มีนาคม 2565 ไปร่วมงานแต่งงาน หลังจากนั้น 2 วันเริ่มมีไข้ต่ำๆ ไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ไม่มีน้ำมูก จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ไม่ท้องเสีย
ตรวจ ATK วันที่ 15 มีนาคมให้ผลบวก เริ่มกินยาฟ้าทะลายโจร
วันที่ 18 มีนาคม ยังมีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส เริ่มไอมากขึ้น มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่เหนื่อย วัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติ ตรวจ RT-PCR ยืนยันให้ผลบวก
วันที่ 20 มีนาคม 2565 หยุดยาฟ้าทะลายโจร เริ่มยาโมลนูพิราเวียร์เนื่องจากเป็นคนสูงอายุ เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด กินและฉีดยากดภูมิ
มีปัจจัยเสี่ยงทำให้มีโอกาสป่วยรุนแรง ให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ โดยให้กินยาที่บ้าน 4 เม็ด เช้า 4 เม็ด เย็น ติดต่อกัน 5 วัน
ไอดีขึ้น เสมหะน้อยลง ไม่มีไข้ หลังกินยาโมลนูพิราเวียร์ และไม่มีผลข้างเคียงจากยา