มะเร็งเต้านม โรคร้ายคร่าชีวิต"นุ๊กซี่"เช็กแนวทางรักษา-การตรวจมีกี่วิธี

28 มี.ค. 2565 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2565 | 10:48 น.

รู้จักมะเร็งเต้านม โรคร้ายคร่าชีวิต"นุ๊กซี่ -อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์" แฟนปู แบล็คเฮด เช็กเลยผู้หญิงวัยไหนมีความเสี่ยง อาการเป็นอย่างไร การตรวจมีกี่วิธี รักษาหายหรือไม่ แนวทางการรักษามีแบบไหนบ้าง ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่

ถือเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิงอีกครั้ง หลังจาก"นุ๊กซี่ -อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์" แฟนสาวของปู แบล็คเฮด หรือ อานนท์ สายแสงจันทร์ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคร้ายนี้ว่าใครที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคนี้ หรือสัญญาณบ่งชี้ของโรคนี้เป็นอย่างไร หากเป็นแล้วมีวิธีการรักษาหรือไม่ ต้องรักษาแบบไหน ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่

 

ข้อมูลจาก ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระบุว่าสมาคมโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) แนะนำให้

1.ผู้หญิงอายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

 

2.ผู้หญิงอายุ 35-40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมเป็นพื้นฐานและควรตรวจทุก 2 ปี

 

3.ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี

 

4.หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจคัดกรองแมมโมแกรมอย่างน้อย 5 ปีก่อนอายุที่ญาติสายตรงเริ่มพบมะเร็งเต้านม

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

  • คลำพบก้อนที่เต้านม
  • เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง และผิวหนังเต้านม เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ มีสะเก็ด
  • มีแผลแตกบนเนื้อเต้านม
  • หัวนมบอดหรือมีการดึงรั้ง คัน หรือแดงผิดปกติ
  • มีเลือด หรือน้ำออกจากหัวนม
  • รักแร้บวม คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลือง
     

มะเร็งเต้านม ระยะเริ่มต้นไม่เจ็บ การดูแลและป้องกันมี 3 วิธี

  1. ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เดือนละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammography) หรืออัลตราซาวด์เต้านม ในสตรีอายุ 35-40 ปี ขึ้นไป
  3. การตรวจโดยแพทย์
     

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self Examination-BSE) "การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พบความผิดปกติได้เร็วขึ้น" โดยวิธีการตรวจเต้านม มี 3 วิธี สามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง

 

  1. การคลำแบบวนเป็นวงก้นหอย
  2. การคลำในแนวดิ่ง
  3. การคลำในแนวรูปลิ่ม


 

ขั้นตอนการตรวจเต้านม ด้วยตัวเอง มี 3 ท่า


1. คลำในท่ายืน


เริ่มต้นด้วยการยืนตรงหน้ากระจกเงา สำรวจดูเต้านม 2 ข้าง ในส่วนของรูปทรง ขนาด ลักษณะของผิวหัวนม การบวมที่ผิดปกติจากเดิม
สังเกตดูว่ามีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากหัวนมหรือไม่ จากนั้นใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือกดบริเวณลานนมและหัวนมเบา ๆ  ว่ามีของเหลวใด ๆ  ออกมาหรือไม่


ใช้มือด้านตรงข้ามตรวจโดยใช้ 3 นิ้ว  คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเลื่อนไปเรื่อย ๆ  ให้ทั่วเต้านม อาจเลื่อนขึ้นลงสลับกันหรือวนเป็นรูปก้นหอย

 

2. ท่าขณะอาบน้ำ


สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำในลักษณะเดียวกับท่านอนราบ


สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจประคองเต้านมและตรวจคลำจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบน

 

3. คลำในท่านอน


ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักให้อกด้านที่จะตรวจแอ่นขึ้น ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำตรวจเต้านมทีละข้าง เช่นเดียวกับท่ายืน


 
การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์

การตรวจแมมโมแกรม เป็นการถ่ายฟิล์มเอกซเรย์เต้านม เพื่อดูความผิดปกติของเต้านมช่วยบอกถึงลักษณะก้อนที่คลำได้ สามารถตรวจพบก้อนเนื้อทีมีขนาดเล็กหรือกลุ่มหินปูนแคลเซียมที่เกิดจากมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการค้นพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก 

 

หลังจากตรวจแมมโมแกรมเสร็จรังสีแพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยแยกก้อนและถุงน้ำ และยังใช้ตรวจหาความผิดปกติของเต้านมในสตรีที่อายุยังน้อยที่เนื้อเต้านมมีความหนาแน่นสูง

 

การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

  • ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร
  • ไม่ควรทาแป้ง โลชั่นหรือโรลออนบริเวณหน้าอกและรักแร้ เนื่องจากจะมีผลต่อภาพแมมโมแกรม
  • หลีกเลี่ยงช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจแมมโมแกรม คือ 7-14 วัน หลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลงทำให้เต้านมไม่คัดตึงเวลาตรวจแมมโมแกรมก็จะเจ็บน้อยกว่า
  • ควรนำฟิล์มภาพเก่ามาเปรียบเทียบด้วยเพื่อให้นักรักสีแพทย์สามารถเปรียบเทียบความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ได้

 

 

ในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งเต้านม ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ผู้ป่วยไม่ต้องกังวล เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง  หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มีโอกาสหายจากโรคได้ โดยการรักษามะเร็งเต้านมโดยทั่วไป มีดังนี้

 

การผ่าตัด


เป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านมที่สามารถนำก้อนเนื้อมะเร็งออกได้มากที่สุด และการผ่าตัดร่วมกับการรักษาอื่นๆ ก็ทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามการหายขาดจากโรคขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยบางรายเมื่อผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งแล้วก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นนอกจากการรักษาแล้ว การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ

 

การฉายแสง (Radiation)


ผู้ป่วยจะได้รับรังสีรักษาจากเครื่องฉายรังสีผ่านเข้าไปยังบริเวณที่เป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งการฉายแสงมักทำ ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อผลการรักษาที่ดี

 

การทำเคมีบำบัด หรือคีโม (Chemotherapy)


เป็นการให้ยาเคมีเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย โดยศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม ให้ความสำคัญกับการลดผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีรักษามะเร็งเต้านมที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยมีเครื่อง Scalp Cooling ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อลดภาวะผมร่วง ระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด โดยอาศัยสารเหลวอุณหภูมิต่ำ เพื่อสร้างความเย็นให้แก่หนังศีรษะทำให้เส้นเลือดหดตัว จึงทำให้ยาเคมีบำบัดมีผลต่อเส้นผมน้อยลง ซึ่งสามารถลดผมร่วงขณะให้ยาเคมีบำบัด อีกทั้งยังช่วยให้รากผมขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิมอีกด้วย

 

ทั้งนี้การรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการรักษาจะเป็นผู้แนะนำการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมให้กับผู้ป่วย  

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เมื่อถึงวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นมาตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะเมื่อมะเร็งเต้านม ตรวจพบเร็ว รักษาเร็วอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสหายขาดได้

 

 

ที่มาข้อมูล