ยาฟาวิพิราเวียร์กำลังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียง เมื่อฝ่ายหนึ่งออกมาให้ข้อมูลว่ายาขาดแคลน ขณะที่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่ามี "ฟาวิพิราเวียร์" อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ดียังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ในการยาดังกล่าว
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
ในแวดวงทางการแพทย์ระหว่างที่ยังไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับโควิด-19 (Covid-19) ก็หันมาฟัดกันเองไปพลางๆ ก่อน จนอาจทำให้สังคมเกิดความสับสนได้
โดยชมรมแพทย์ชนบทเปิดประเด็นว่ายาฟาวิพิราเวียร์ขาดมือในหลายพื้นที่ ไม่มีให้แพทย์สั่งใช้ตามคำแนะนำของประเทศฉบับล่าสุด
โดยอ้างมีการศึกษาจากบ้านริมน้ำว่า ถ้าให้ยานี้เร็วในคนกลุ่มเสี่ยงจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาโต้ว่า จัดเตรียมยาไว้เพียงพอทั้งประเทศ แต่อาจมีการขัดข้องทางเทคนิคบ้างในบางพื้นที่ที่ห่างไกล
แต่สามารถบริหารจัดการไม่ให้ยาขาดมือแพทย์เป็นเวลานานได้ อีกทั้งเน้นให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 25% ที่มีข้อบ่งใช้ยาฟาวิพิราเวียร์
แต่อย่าลืมว่ายอดผู้ป่วยที่มีแต่ผลตรวจ ATK และอาจต้องใช้ยา แต่ไม่ได้รายงานเข้าระบบมีอีกไม่รู้เท่าไร
ในฐานะคนกลางทั้งคู่มีส่วนถูกและไม่ถูก แต่ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล ข้อมูลทางวิชาการ และผลในระบบปฏิบัติงานจริง
ไม่ควรมาโต้กันออกสื่อโจมตีกันด้วยหวังผลอื่น แถมมีการอ้างอิงข้อมูลไม่ถูกต้อง ดึงเอาบางส่วนไปตัดแปะเพื่อใช้สนับสนุนแนวคิดของพรรคพวกตัวเอง
นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของ “Confirmation Bias” ในยุคโลกปัจจุบันแห่งสงครามข่าวสาร
ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ข้อความที่ปรากฏเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ดังในรูป
ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (COVID-19) ฯ ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565
ไม่ได้บอกตรงไหนว่าการศึกษาทำจากบ้านริมน้ำแห่งเดียว ที่จริงเป็นการศึกษาร่วมกันในโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งแบบไปข้างหน้าและแบบย้อนหลัง
และอย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว ข้อมูลแบบไปข้างหน้ายาฟาวิพิราเวียร์ถ้าให้ทันกาล จะแค่ทำให้อาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น
แต่ไม่ช่วยลดโอกาสการลุกลามของโรคซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการให้ยาโอเซลตามิเวียร์ในโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
หลายประเทศเริ่มเตรียมการควบผนวกการดูแลรักษาและควบคุมโรคโควิด-19 เข้ากับแผนการรับมือโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
โดยองค์การอนามัยโลก ได้ออกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปีพ.ศ. 2565
ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าถ้าแพทย์จะให้ยาโอเซลตามิเวียร์รักษา ต้องให้เร็วภายใน 24 ชั่วโมง โดยหลักฐานมีแค่ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว
แต่หลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอนักที่จะชี้ให้เห็นว่า ช่วยลดเวลาการกำจัดไวรัสจากร่างกาย ตลอดไปจนถึงช่วยลดการที่โรคลุกลามต่อจนคุกคามชีวิต
น่าจะเทียบเคียงได้กับสถานะในปัจจุบันของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับโรคโควิด-19 ในบ้านเรา