วันนี้ (1 เม.ย.65) นายวันชัย เกียรติสุวรรณ ประธานประชาคมสนามบินน้ำ และคณะ ได้เข้าหารือกับฝ่ายปกครองของจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือถึง นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และถอดออกจากแผนแม่บทการพัฒนาและบูรณาการโครงข่ายถนนสะพานข้ามแม่น้ำและการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยหนังสือเรียกร้องดังกล่าวระบุว่า ด้วยกรมทางหลวงชนบทมีโครงการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จากฝั่งชุมชนสนามบินน้ำ อำเภอเมืองนนทบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ผ่านตำบลท่าอิฐไปสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ ซึ่งจะทำให้ราษฎรในชุมชนสนามบินน้ำเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
พวกเรากลุ่มประชาคมสนามบินน้ำ จึงไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างสะพานสนามบินน้ำ ด้วยเหตุผลการสร้างสะพานไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดนนทบุรี แต่กลับสร้างปัญหาจราจรติดขัดบริเวณแยกสนามบินน้ำเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชน ระบบรางคือรถไฟฟ้ามีถึง 2 สาย คือ สายสีม่วงที่เปิดดำเนินการแล้วกับสายสีชมพูที่กำลังก่อสร้างและกำลังจะเปิดดำเนินการใช้ในปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐท้องถิ่นแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สภาพการจราจรภายในเขตอำเภอเมืองนนทบุรีแออัดอยู่แล้ว
และมีสะพานหลักคือ สะพานพระนั่งเกล้า 2 สะพาน (เท่ากับเป็นสะพานสนามบินน้ำได้) สะพานพระนั่งเกล้า หากข้ามจากฝั่งตะวันตกเลี้ยวซ้ายเข้าผ่านกระทรวงพาณิชย์ถึงโค้งสนามบินน้ำ มีระยะห่างจากสะพานพระนั่งเกล้า 1.5 กิโลเมตร ถ้าเลี้ยวขวาไปทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าระยะห่างถึงสะพานเจษฎาบดินทร์เพียงประมาณ 1.5 กิโลเมตรเช่นกัน
ถ้านับจากสะพานเจษฎาบดินทร์ไปสะพานพระราม 5 จะมีระยะห่างประมาณ 4.5 กิโลเมตร ซึ่งทุกสะพานที่ข้ามจากฝั่งตะวันตกมารถ ก็จะมาถูกกองไว้ที่แยกแคลาย และแยกหัวถนนติวานนท์ ใกล้ห้าง BIG C ติวานนท์ เข้าถนนวงศ์สว่างเบี่ยงซ้ายออกถนนรัชดาภิเษกไปรัชโยธิน ถ้าจากแยกแคลายก็จะข้าไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และถนนวิภาวดีรังสิต เป็นแบบนี้ทุก ๆ วัน
การสร้างสะพานสนามบินน้ำก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจร มีแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตชุมชนอันเก่าแก่ เช่น วัดตำหนักใต้ วัดชมภูเวก ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ถ้าสร้างสะพานต้องใช้งบประมาณลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในการสร้างสะพานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรได้ตามข้อกล่าวอ้างของหน่วยงานรัฐ
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน สถานะของประเทศอยู่ในภาวะที่จะต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณด้วยความรอบคอบ เพราะนอกจากจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนสูงเพื่อผลิตวัคซีน ดูแลผู้ป่วย และเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
อีกทั้งรัฐบาลยังต้องให้ความเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อยโดยการเยียวยา ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว และกระจายให้ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และจะต้องเตรียมงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในระยะต่อไปเพื่อฟื้นฟูประเทศ รวมไปถึงภาระหนี้ของประเทศ
การนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะได้จากงบประมาณแผ่นดิน หรือกู้ยืมจากแหล่งเงินต่าง ๆ เพื่อมาลงทุนในโครงการ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
โดยเฉพาะโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ใช้เงินลงทุนสูงประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาท (สองหมื่นล้านบาท) ในขณะที่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหาระบบการจราจรขาดความชัดเจน ประกอบกับมีการขยายถนนและเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวหลายสายแล้ว
จึงรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และถอดโครงการออกจากแผนแม่บทฯ ด้วย