เช็คสิทธิรักษาพยาบาล ผู้ประกันตน ม.33 ครอบคลุมแค่ไหน

02 เม.ย. 2565 | 04:19 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 10:42 น.

สำนักงานประกันสังคม แจง “การจัดเก็บเงินสมทบ ในกรณีเจ็บป่วย” ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม.33 ได้สิทธิครอบคลุมการรักษาพยาบาลหากพบปัญหา แนะผู้ประกันตนร้องเรียนทันที

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง โดยจะแบ่งออกเป็น กรณีเจ็บป่วยอัตรา 1.06% กรณีคลอดบุตรอัตรา 0.23% กรณีทุพพลภาพอัตรา 0.13% กรณีตายอัตรา 0.08% รวมการจัดเก็บทั้ง 4 กรณี อัตรา 1.50% อีกทั้งได้แบ่งเป็นการจัดเก็บเงินสมทบอีก 3 กรณี คือ กรณีสงเคราะห์บุตรกับกรณีชราภาพ 3.00% และกรณีว่างงานอีกในอัตรา 0.50% 

เช็คสิทธิรักษาพยาบาล ผู้ประกันตน ม.33 ครอบคลุมแค่ไหน

สำหรับการจัดเก็บเงินสมทบ 1.06% เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตน ในยามเจ็บป่วยนั้น สำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามมาตรฐานการให้บริการ ทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน โดยมีรายละเอียด คือ

  • สถานพยาบาลมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถตลอด 24 ชั่วโมง 
  • จัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเพียงพอจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย และจำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษา 
  • สถานพยาบาลจะไม่เก็บค่าบริการทางการแพทย์จากผู้ประกันตน 
  • การสั่งจ่ายยาที่ใช้สำหรับผู้ประกันตนจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และจะต้องจัดให้ผู้ประกันตนโดยไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม 
  • ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่มีความเสี่ยง ต่อการเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ถูกทวงถาม สิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนสิ้นสุดการรักษา 
  • นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว ผู้ประกันตนสามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วันต่อปีอีกด้วย

 

 สำนักงานประกันสังคมได้มีการควบคุมคุณภาพ การให้บริการของสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยมีการตรวจประเมินคุณภาพของสถานพยาบาล เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานพยาบาลตามมาตรฐานในด้านการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ 

 

หากพบสถานพยาบาลใด ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ จะได้รับการลงโทษตามประกาศสำนักงานประกันสังคม คือ ว่ากล่าวตักเตือน ลดจำนวนโควตาผู้ประกันตน ในปีต่อไป ส่งเรื่องให้แพทยสภา หรือยกเลิกสัญญาจ้างแล้วแต่กรณี 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนไม่ได้รับความสะดวก ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม สามารถร้องเรียน มาได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง หรือที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด / สาขา ทั่วประเทศที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง