สั่งระงับโฆษณา รพ.เอกชน ย่านบางปะกอก อวดอ้างแจกยาฟาวิพิราเวียร์ฟรี 

03 เม.ย. 2565 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2565 | 12:51 น.

กรม สบส. สั่งระงับโฆษณา รพ.เอกชน ย่านบางปะกอก หลังพบมีการอวดอ้าง แจกยาฟาวิพิราเวียร์ฟรี ชี้ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ห้ามแจกจ่ายเอง หากไม่ระวังสุ่มเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงกับ หญิงตั้งครรภ์ หรือการทำงานของตับ

3 เมษายน 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับข้อมูลว่า มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกระทำการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ เนื่องจากการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์นั้นต้องผ่านดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้

ดังนั้น กรม สบส.จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ พบว่า มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในย่านบางปะกอก ดำเนินการโฆษณาแจกยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านเว็บไซต์ โดยระบุให้ผู้รับบริการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ส่งประวัติการป่วยให้กับโรงพยาบาลก็สามารถได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่า การโฆษณาข้างต้นมิได้มีการขออนุมัติจากกรม สบส. รวมทั้งมีโฆษณาอื่น ๆ ของโรงพยาบาลที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงมีหนังสือคำสั่งให้ระงับการโฆษณา และเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมารับทราบการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในเรื่องของการโฆษณา ได้แก่ 

1.สถานพยาบาลกระทำการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศฯ โดยไม่ได้ขออนุมัติ และได้รับอนุมัติจากผู้อนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา 

2.สถานพยาบาลกระทำการโฆษณาหรือประกาศ อันเข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการโฆษณายาฟาริพิราเวียร์อีกด้วย 

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มิใช่จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยทุกราย โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เพราะสามารถหายเองได้ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ

การจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรก การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับก็การใช้ยาก็อาจจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นได้

จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ทุกท่าน เข้ารับการวินิจฉัยและประเมินอาการจากแพทย์ เพื่อการรักษาและจ่ายยาที่เหมาะสมตามอาการ โดยไม่ควรจัดหาหรือซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เองโดยเด็ดขาด