โควิดสายพันธุ์xe เกิดจากอะไร น่ากลัวแค่ไหน มีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าสนใจในเวลานี้ เพราะถือว่าเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อย XE ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) ว่า
สายพันธุ์ย่อย “XE” เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม (recombinant or reassortment) ของสองสายพันธุ์ย่อยในคนที่โชคร้ายได้รับเชื้อสองชนิดเข้าไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ดังนั้นเจ้า XE จึงมาจากการผสมกันของ BA.1 และ BA.2 ทำให้ลูกผสมนี้แพร่ง่ายกว่า BA.2 ขึ้นมาอีกนิดนึง แต่คงไม่มีอาการอะไรร้ายแรงน่ากลัวกว่ากัน
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ให้ข้อมูลว่า กำลังจับตาไวรัสโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเบื้องต้นนั้นพบว่า XE ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ล่าสุดของโอมิครอน (Omicron) นั้นดูเหมือนจะสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเช่นกัน ราว ๆ 10%
ในรายงานด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์ของ WHO ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น มีการเปิดเผยว่า โอมิครอนสายพันธุ์ XE เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 โดย XE จะยังคง ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน จนกว่าจะมีรายงานที่แสดงถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านการแพร่เชื้อและลักษณะของโรคซึ่งรวมถึงความรุนแรง
จากการประมาณการในช่วงแรกบ่งชี้ว่า XE มีอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนได้มากกว่าสายพันธุ์ BA.2 อยู่ราว 10% อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การค้นพบนี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยันเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ XE ครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีผู้ติดเชื้อ XE ที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 600 รายนับจากนั้น
ปัจจุบัน WHO ระบุว่า ไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 86% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
ด้านน.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า ไทยพบ Omicron XE รายแรกแล้ว
โดยเป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย ที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวคือ มีอาการเล็กน้อย และหายดีเรียบร้อยแล้ว
เมื่อพบเคสแรกแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า จะมีการแพร่ระบาดต่อไปในที่สุด
ส่วนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
เพราะถ้าสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่า ก็จะส่งผลกระทบ ทำให้การเข้าสู่จุดสูงสุดในระลอกที่สี่หรือระลอกมกราคม 2565 ล่าช้าออกไปอีก
ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค การดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป
โดยเริ่มพบที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565 จำนวน 637 ราย และได้รายงานอย่างเป็นทางการไปแล้ว