ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดรวมatk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)ที่ติดต่อได้ง่าย และรวดเร็ว
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1828 คน เป็น 1,899 คน เพิ่มขึ้น 3.88%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 712 คน เป็น 815 คน เพิ่มขึ้น 14.46%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ น้อยกว่าสัปดาห์ก่อน 3.58% และน้อยกว่าสองสัปดาห์ก่อน 7.23%
หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า
Long COVID
ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางรับมือปัญหา Long COVID ซึ่งพบมากถึง 7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และจะส่งผลกระทบทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน ถือเป็นเรื่องที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้
7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศนั้น คำนวณกลับจากฐานประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากถึง 14.6 ล้าน
จากข้อมูลข้างต้น หากประเมินเปรียบเทียบกับจำนวนคนวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อจะพบว่าอัตราการเกิดภาวะ Long COVID ในคนวัยผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อจะสูงราว 20%
ในขณะเดียวกัน ชุดข้อมูลจาก Office for National Statistics ของสหราชอาณาจักร ก็รายงานปัญหา Long COVID ในประชากรที่สูงราว 1.7 ล้านคน หรือพบได้ประชากรทั่วไปได้ 1 ใน 37 คน แม้อัตราการเกิดจะดูน้อยกว่าอเมริกา ตัวเลขดังกล่าวเป็น self-reported จึงมีโอกาสที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริงได้ แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เห็นอยู่นี้ก็ถือว่ามหาศาล
ทั้งนี้มีถึง 780,000 คนที่ประสบภาวะ Long COVID มายาวนานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และมีมากถึง 334,000 คน ที่เริ่มประสบปัญหานี้จากระลอก Omicron ซึ่งเพิ่งเป็นจำนวนที่เริ่มปรากฏให้เห็นจากช่วงปลายปีก่อน แต่จะทยอยมากขึ้นกว่านี้จากเคสที่ติดเชื้อตั้งแต่ต้นปีนี้มา
ที่น่าเป็นห่วงคือ ตั้งแต่ระลอก Omicron เป็นต้นมา เคสที่เป็น Long COVID จะมีทั้งชายและหญิง และมีทุกช่วงวัยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยขณะนี้มีเด็กที่มีภาวะ Long COVID สูงถึง 150,000 คน มีเพียง 31,000 คนที่เป็นมานานกว่า 1 ปี เนื่องจากในระลอกก่อนๆ การติดเชื้อมักเกิดมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่หลังจากมี Omicron ระบาด มีเด็กติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน
บทเรียนของต่างประเทศเป็นเหมือนเสียงระฆังที่ดัง กังวาล เตือนให้ไทยเราตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรค
ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
หากปล่อยปละละเลย ดำเนินนโยบายตามกิเลส โดยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จำนวนติดเชื้อย่อมมีมาก และจะไม่จบแค่ติดเชื้อ ป่วย รักษา หายหรือตาย
แต่จะเกิดผลกระทบระยะยาว Long COVID บั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิต การทำงาน และทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหรือภาวะทุพลภาพ เป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม