“ลองโควิดรักษายังไง” ผลกระทบระยะยาวของผู้ที่เคยติดโควิด

10 เม.ย. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 14:58 น.

ผู้ที่เคยติดโควิด อาจมีภาวะลองโควิดเกิดขึ้น คำถามที่ตามมาคือ ภาวะ “ลองโควิดรักษายังไง” เพราะมีผลกระทบระยะยาวของผู้ที่เคยติดโควิด

“ลองโควิดรักษายังไง” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะเมื่อติดเชื้อโควิด แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีความรุนแรงของโรคตอนแสดงอาการแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ แต่ละคนก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน

บางคนหายจากการติดโควิดแล้วก็กลับมาเป็นปกติ แต่บางคนกลับรู้สึกว่าไม่กลับสู่ภาวะสุขภาพแข็งแรงเหมือนก่อน ความรู้สึกนี้เอง เป็นหนึ่งในอาการของ “ลองโควิด” ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโควิดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 35% และในผู้ป่วยโควิด ที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในมากถึง 87%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "หมอธีระ" ระบุว่า ภาวะ "Long COVID" หรือ "ลองโควิด"  มีข่าวเกี่ยวกับคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางรับมือปัญหา Long COVID ซึ่งพบมากถึง 7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และจะส่งผลกระทบทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน

 

ถือเป็นเรื่องที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้  7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศนั้น คำนวณกลับจากฐานประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากถึง 14.6 ล้าน

 

อาการของภาวะลองโควิด

  • แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
  • พบบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย โดยผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด ที่มีอาการน้อย

 

ลองโควิดรักษายังไง 

  • จะต้องวินิจฉัยแยกออกจากโรคที่มีอันตรายอื่นหรือสาเหตุอื่นก่อน
  • ควรปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะซักประวัติ วัดความดันโลหิต / ชีพจร เจาะเลือดตรวจ หรือเอกซเรย์ปอด
  • ภาวะนี้มักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แต่ละโรงพยาบาลควรจัดทีมสหวิชาชีพติดตามอาการของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว
  • การรักษา ลองโควิดจะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก
  • สิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้เพื่อป้องกันภาวะโพสต์โควิด คือการป้องกันตัวเองให้ไม่เป็นโควิด
  • ดูแลสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล