รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
กระโดดพรวดในสองวันจนสถิติยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงแตะหลักสองพันแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็กำลังจะทะลุร้อย คงได้เห็นไปต่ออีกระยะหนึ่งก่อนปรับฐานครั้งใหม่ ยังไม่ยอมถึงขาลงง่ายๆ ดังหวัง
ดูเหมือนศบค.จะเลือกปรับฐานชั่วคราวช่วงสงกรานต์ก่อน ด้วยการยังไม่เพิ่มมาตรการผ่อนคลายอื่นอีกจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วเร่งเสริมมาตรการต่างๆ เพื่ออุดรูรั่วในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยตามประเพณีโบราณ หวังให้เกิดแรงกระเพื่อมยอดผู้ป่วยใหม่ช่วงยี่สิบวันอันตราย (11-30 เมษายน) ให้น้อยที่สุด
ที่ต้องให้เป็นช่วงกว้างเพราะต้องคำนึงถึงทั้งก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน ที่คนเราจะมีการเคลื่อนย้าย รวมกลุ่ม และการ์ดตก มาลุ้นกันว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราจะได้สึนามิหรือคลื่นน้อยพลอยให้เรือเล็กออกจากฝั่งได้
ที่ยังน่าเป็นห่วงตอนนี้ในบ้านเรา คือการเจ็บป่วยรุนแรงของเด็กเล็กในระลอกนี้ ซึ่งมีลูกเด็กเล็กแดงป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตให้เห็นบ่อยกว่าระลอกก่อน
ดูเหมือนสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะแซงหน้ากลุ่มอื่นมา แม้ทุกฝ่ายจะพยายามร่วมมือกันเตรียมการรับมือเต็มที่ แต่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเด็กป่วยหนักจากโควิดในบ้านเรามีจำกัด เด็กเล็กก็ไม่เหมือนผู้ใหญ่ย่อส่วนเสียด้วย
จำเป็นต้องมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลเป็นพิเศษ ทางที่พอช่วยได้ในการเสริมภูมิคุ้มกันทางอ้อมให้เขาระหว่างรอวัคซีนในอนาคต คือต้องช่วยกันลดการติดเชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็กโดยเฉพาะจากสมาชิกในครอบครัว บ้านไหนที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ สมาชิกครอบครัวต้องเข้ารับวัคซีนตามคำแนะนำให้ครบ ตั้งการ์ดสูงระมัดระวังตัวเองเต็มที่ ปกป้องเด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุจากการเดินทางและพบปะญาติมิตรให้ได้มากที่สุดในช่วงยี่สิบวันอันตรายนี้
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ห่วงกันคือคนท้อง ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วอาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ต่างจากช่วงเดลต้าที่ว่าที่คุณแม่ยังฉีดวัคซีนกันน้อย แต่คำถามที่ยังรอคำตอบคือ แล้วทารกที่คลอดออกมาหลังจากแม่หายดีแล้วนั้น จะได้รับผลกระทบใดๆ หรือไม่
ทีมนักวิจัยจากเยอรมัน ได้ติดตามอาการและการตรวจคลื่นสะท้อนสนามแม่เหล็ก (MRI) ทารกในครรภ์ ของคุณแม่จำนวน 34 คน อายุครรภ์ 24-40 สัปดาห์ที่ติดเชื้อโควิดแต่มีอาการน้อยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
ทุกรายสามารถตั้งท้องครบจนคลอดได้ตามปกติ พบว่าการเจริญเติบโตของปอดทารกเมื่อเทียบกับร่างกายทั้งหมด มีขนาดลดลงในคนที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับคนปกติที่ตั้งท้องในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยจะเห็นการลดลงลงมากในแม่ที่ท้องแก่มากกว่าแม่ที่อายุครรภ์น้อยกว่าขณะที่มีการติดเชื้อ แต่ทารกทุกคนที่คลอดมา ไม่มีรายใดเกิดภาวะหายใจลำบากแรกคลอด (postnatal respiratory distress) ทั้งหมดนี้ยังไม่รู้ว่าจะประยุกต์ใช้ได้กับช่วงโอไมครอนหรือเปล่า ส่วนผลในระยะยาวเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้นไปแล้ว คงจะมีการติดตามพัฒนาการของปอดและร่างกายส่วนอื่นของพวกเขาต่อไป
วันนี้คนกรุงอันตรายจากโควิด-19 (Covid-19) ทรงแบบขาลง แต่อันตรายจากฝุ่นจิ๋วสูงมาก เมื่อเช้ามืดแถวบ้านขึ้นไปแตะระดับ 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสีแดงเลือดหมูเกือบสีน้ำตาลตามมาตรฐานสากล คนธรรมดาอยู่ไม่นานก็จะแย่
ส่วนกลุ่มเปราะบางไม่ต้องพูดถึง ระมัดระวังตัวกันด้วยนะ อย่าออกที่โล่งแจ้ง ถ้าจำเป็นใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นหรือถ้าได้ใช้หน้ากาก N95