โควิด 19 ติดซ้ำได้ไหม? หายแล้วต้องทำอย่างไรต่อ เช็ครายละเอียดที่นี่

15 เม.ย. 2565 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 12:57 น.

โควิด 19 ติดซ้ำได้ไหม? หายแล้วต้องทำอย่างไรต่อ ฉีดวัคซีนได้ตอนไหน ทำ Home Isolation ที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย เช็ครายละเอียดที่นี่

 “โควิดติดซ้ำได้ไหม”

“ทำ Home Isolation ที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย”

“กักตัวครบแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร”

“หายป่วยจากโควิดแล้ว ฉีดวัคซีนได้ตอนไหน”

“ฉีดวัคซีนหลายชนิดปนกัน จะเป็นอันตรายไหม”

“ดูแลตัวเองอย่างไรให้รอดจากโควิดซีซั่นนี้”

แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี (คุณหมอเมย์) อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์ อัพเดทตอบคำถาม และข้อสงสัยที่ผู้ป่วยมักจะถามคุณหมอกันบ่อยๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้กัน

 

Covid ติดซ้ำได้ไหม?

โดยปกติแล้ว ข้อมูลการติดเชื้อโควิดซ้ำๆ ก่อนหน้าที่จะมีโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้นมา ได้มีการเก็บข้อมูลมาเป็นระยะ พบว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้วผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาจะยังไม่มีการติดเชื้อซ้ำ ภายใน 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์ แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้ โดยความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำจะมีเทียบเท่ากันกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

 

ประกอบกับการได้รับวัคซีน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยพบว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับเข็มที่ 3 หรือ เข็มที่ 4 จะสามารถช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ได้ 2-3 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจาก: วารสารทางการแพทย์นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน, ประเทศอิสราเอล)

แต่สำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ได้มีการพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการติดเชื้อซ้ำ โดยพบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อซ้ำภายใน 1-2 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับเชื้อมา โดยวิธีในการพิสูจน์การติดเชื้อซ้ำ ดูได้จากค่า CT (Cycle threshold) หรือ ค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิด จากการตรวจ RT-PCR พบว่า มีค่าลดลง และมีอาการขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่ผู้ป่วยไม่มีไข้ กลับมามีไข้สูงอีกครั้ง โดยจากการศึกษาข้อมูลทั่วโลกพบว่า มีการติดเชื้อซ้ำได้ภายใน 1-2 เดือนแรก มากถึง 10-20%

 

 

Home Isolation เมื่อต้องกักตัวที่บ้าน จะอยู่ร่วมกับผู้ไม่ติดเชื้ออย่างไรให้ปลอดภัย

Covid-19 มีระยะเวลาในการแพร่เชื้อสูงสุด คือ ช่วง 2 วันก่อนที่จะมีอาการ ไปจนถึง 5 วันหลังมีอาการ หลังจากนั้นความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเยอะ เช่น ไอมาก ไข้สูง ปอดอักเสบ น้ำมูกเยอะ จะสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย อีกกรณีหนึ่ง คือ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จะมีโอกาสในการแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • เด็ก ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น  ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต, ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ,ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิ และ ผู้ป่วย HIV (ที่มี CD4 ต่ำกว่า 200 / ผู้ป่วยขาดยา)

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง จะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าปกติ ในบางรายสามารถแพร่เชื้อได้นานมากกว่า 30-50 วัน

คุณหมอเตือน อันตรายแค่ไหน? หากผู้ป่วยโรคเบาหวานติดเชื้อโควิด

 

โควิด-19 ติดต่อทางไหน? การแพร่เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ การติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง (Droplet) ถือเป็นช่องทางหลักโดยคิดเป็นร้อยละ 80-90 ไม่ว่าจะผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ละอองฝอยจากผู้ป่วย รองลงมาคือ การติดต่อผ่านการสัมผัส (Contact) การหยิบเอกสาร หรือสิ่งของส่งให้กัน ผู้ที่สัมผัสเชื้อเอามือไปสัมผัสใบหน้า จมูก ตา ปาก ซึ่งเป็นช่องทางในการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ

 

ติดเชื้อโควิด

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องทำ Home Isolation

  • ผู้ติดเชื้อไม่ว่ามีอาการมากหรืออาการน้อย ควรแยกตัวอยู่ในห้องคนเดียว เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
  • แยกการใช้ห้องน้ำส่วนตัว (ถ้าเป็นไปได้) ในกรณีที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แล้วทำความสะอาด ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดชักโครก
  • หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนในบ้านโดยที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย
  • รับประทานอาหารคนเดียว ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
  • ติดต่อผู้อื่นในบ้านให้น้อยที่สุด หากต้องพูดคุยกันให้รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร  โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • ไม่อยู่รวมกันกับผู้อื่นในบ้าน พื้นที่อับอากาศ หรือห้องที่ปิดมิดชิด ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

 

กักตัวครบแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อไปดี?

“กักตัวครบ 10 วันแล้ว หายป่วยแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อดี ปลอดภัยสำหรับคนอื่นหรือยัง” คุณหมอจะขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน ดังนี้

กรณี 1: หากไม่มีอาการใดๆ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

กรณี 2: หากมีอาการแสดง เช่น ไอ หรือ ไอมีเสมหะปนเลือด เดิมไม่มีไข้แต่กลับมามีไข้ใหม่ มีไข้ต่อเนื่องนานตลอด 10 วันที่กักตัว เหนื่อยมากขึ้น ท้องอืด ท้องเสีย แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ

ปลอดภัยสำหรับคนรอบข้างหรือยัง? ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันปกติ ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ถือว่าปลอดภัยสำหรับคนรอบข้างแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องทำการตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพราะความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไป 7-10 วัน

หากต้องอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน สามารถตรวจ ATK อีกครั้ง เมื่อครบ 10 วัน ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อกักตัวครบ 10 วัน หากตรวจ ATK ผลตรวจที่ได้มักจะเป็น ผลลบ (-) หรือผลบวก (+) มีลักษณะเป็น 2 ขีดจางๆ ซึ่งดังกล่าว ถือเป็น “ซากเชื้อ” ไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้

ในผู้ป่วยบางราย อาจพบผลตรวจ ATK เป็นผลบวก (+) มีลักษณะ 2 ขีดเข้ม ในกรณีนี้ แนะนำให้แยกตัวออกจากผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ อีกอย่างน้อย 7 วัน และทำการตรวจ ATK ซ้ำอีกติดกันเป็นเวลา 2 วัน โดยในช่วง 7 วันนี้ ควรแยกตัวจากผู้อื่น รับประทานอาหารคนเดียว และไม่ไปคลุกคลีใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับกลุ่มเสี่ยงข้างต้น

ตรวจโควิด-19 RT-PCR vs ATK ต่างกันอย่างไร?

ฉีดวัคซีนได้ตอนไหน?

สำหรับการฉีดวัคซีน เป็นคำถามที่หมอพบบ่อยมาก และผู้ป่วยค่อนข้างมีความสับสนเกี่ยวกับการรับวัคซีน ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก เมื่อครบระยะกักตัวแล้วควรไปรับวัคซีน โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการรับวัคซีน ดังนี้

  • กลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรไปรับวัคซีนเข็มที่ 1 หลังจากครบระยะกักตัว (ถ้าไม่มีอาการใดๆ) และรับวัคซีนให้ครบโดส , รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อถึงเวลาที่กำหนด,กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วได้รับวัคซีน (เข็มที่ 2) มาแล้วเกินระยะเวลา 3 เดือน สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) เมื่อครบระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันที่พบเชื้อ

(หมายเหตุ)

  • หากอยู่ในระยะกักตัว ไม่แนะนำให้ไปรับวัคซีน ควรรอจนพ้นระยะก่อน
  • หากได้รับวัคซีนในขณะที่ติดเชื้อ แบบไม่มีอาการโดยไม่รู้ตัว ไม่มีผลอันตรายใดๆ
  • ผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน ไม่มีผลอันตรายเพิ่มขึ้นจากการรับวัคซีน

 

ฉีดวัคซีนหลายชนิดปนกัน จะเป็นอันตรายไหม?

อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัจจุบัน ประชาชนในประเทศไทยมีการรับวัคซีนหลายชนิดปนกัน ไม่ว่าจะเป็น วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccines) วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA Vaccine) จากการศึกษายังไม่พบหลักฐานว่า การรับวัคซีนหลายชนิดปนกันเป็นอันตราย แต่การไม่รับวัคซีนอาจเกิดอันตรายจาก Covid-19 ได้ เพราะทำให้เกิดปอดอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

Covid-19 เราต้องรอด!

เอาตัวรอดอย่างไรจากโควิดซีซั่นนี้? โควิดที่ว่าน่ากลัว ยังไม่น่ากลัวเท่าลองโควิด (Long Covid) โดยอาการส่วนใหญ่ที่มักพบในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว มักมีอาการไอมาก ผิวแห้ง ผมร่วง และประจำเดือนมาเลื่อนไปในผู้ป่วยสุภาพสตรี

Post Covid-19 Condition อาการที่พบได้หลังหายจากโควิด-19

สำหรับคำแนะนำในการดูแลป้องกันตนเองยังคงเหมือนเดิมเหมือนอย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มเติมในรายละเอียด ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนให้ครบโดส และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4)
  • ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยใส่ให้แนบหน้าครอบตั้งแต่จมูกถึงคาง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากในระหว่างวัน และเปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยๆ
  • หมั่นล้างมืออยู่เสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ
  • ให้เช็ดทำความสะอาดสิ่งของที่ได้รับมาจากพัสดุ ก่อนใช้งานทุกครั้ง

 

ที่มา: แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี