พบอื้อ! เตือน น้ำแข็งตักแบ่ง-กดตู้ ปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงท้องร่วง

16 เม.ย. 2565 | 04:21 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2565 | 11:27 น.

อย. เตือน ร้อนนี้ เลือกบริโภคน้ำแข็ง อย่างปลอดภัย หลังสุ่มตรวจน้ำแข็งตักแบ่ง-กดตู้ ในเขตกรุงเทพ ไม่ได้มาตรฐานเกินครึ่ง พบผลิตและเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนประชาชนมีการบริโภคน้ำแข็งเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์น้ำแข็ง ทั้งชนิดที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท และน้ำแข็งชนิดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย

 

โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจ วิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น จากแหล่งจำหน่ายในบริเวณชุมชน เช่น ตลาดนัด ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ สถานีขนส่งสาธารณะ สถานีรถไฟ และสนามบิน เป็นต้น ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 53 รายการ พบว่า

-น้ำแข็งชนิดที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท จำนวน 37 รายการ ได้มาตรฐานทั้งหมด

 

-น้ำแข็งชนิดที่ตัก แบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย จำนวน 16 รายการ พบว่าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 13 รายการ

 

-ผลการตรวจ วิเคราะห์น้ำแข็งทั่วประเทศจาก 12 เขตบริการสุขภาพ พบว่าน้ำแข็ง จำนวน 210 รายการ ได้มาตรฐาน จำนวน 152 รายการ (ร้อยละ 72.38) และไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 58 รายการ (ร้อยละ 27.62)

รองเลขาธิการฯกล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้อน้ำแข็งควรเลือกที่มีภาชนะบรรจุสะอาดและปิดสนิทแน่นหนา ไม่ฉีกขาด น้ำแข็งต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง

 

มีการแสดงฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม และต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน

 

สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งบดหรือน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย หรือเสิร์ฟตามร้านอาหาร ที่ไม่มีฉลากนั้น เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนนี้ โอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์มีมากขึ้น ผู้บริโภคควรหมั่นสังเกตลักษณะ ของน้ำแข็งที่จะบริโภคให้มากขึ้น

 

รวมถึงสถานที่เก็บรักษา และภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด ขณะเดียวกันผู้จำหน่าย ควรมีวิธีการตัก และเก็บน้ำแข็งอย่างเหมาะสม เช่น การเก็บในภาชนะที่สะอาด มีการล้างทำความสะอาดภาชนะ อย่างสม่ำเสมอและการไม่แช่สิ่งของอื่นร่วมกับน้ำแข็งที่จะบริโภค เป็นต้น

 

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 

และจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ