ลองโควิดคืออะไร อัพเดทล่าสุดทั่วโลกมีปัญหาแค่ไหน ทวีปใดมากที่สุด อ่านเลย

18 เม.ย. 2565 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2565 | 12:21 น.

ลองโควิดคืออะไร อัพเดทล่าสุดทั่วโลกมีปัญหาแค่ไหน ทวีปใดมากที่สุด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยข้อมูลจาก Chen C และทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา

ลองโควิด (Long Covid) คืออะไร เป็นประเด็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน  

 

เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) กำลังแพร่ระบาดในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง

 
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
อัพเดตเรื่อง Long COVID

 

ล่าสุด Chen C และทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกอย่างเป็นระบบจนถึง 13 มีนาคม 2565 

 

และทำการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID หรือ Post COVID conditions ในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19
 

ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากลด้านโรคติดเชื้อ Journal of Infectious Diseases เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

 

ทบทวนงานวิจัย 50 ชิ้น และนำ 41 ชิ้นมาวิเคราะห์อภิมาน

 

ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะประสบปัญหา Long COVID สูงถึง 43% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 39%-46%)

 

ทั้งนี้ คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเกิดปัญหา Long COVID ได้ 54% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 44%-63%) 

 

ลองโควิดคืออะไร อัพเดทล่าสุดทั่วโลกมีปัญหาแค่ไหน

 

ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลที่พบว่ามีปัญหา Long COVID 34% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้แงต่ 25%-46%)

 

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างทวีป จะพบว่า ทวีปเอเชียมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ประสบปัญหา Long COVID สูงที่สุดคือ 51% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 37%-65%) 
 

โดยทวีปยุโรปพบประมาณ 44% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 32%-56%) และทวีปอเมริกาเหนือ 31% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 21%-43%)


ดังนั้น จึงสะท้อนให้เราเห็นว่าปัญหาผลกระทบระยะยาวจาก Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่พบบ่อยกว่าที่คาดการณ์ 

 

และจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาว


ติดเชื้อจึงไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่จะมี Long COVID เป็นเส้นทางที่ 3 ซึ่งทางเส้นนี้เป็นทางที่ขรุขระและยาวไกล

 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า 

 

ลองโควิด คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ ลักษณะอาการอาจคล้าย หรือแตกต่างกันกับอาการในช่วงที่ติดโควิด-19

 

อาการของ Long COVID ที่พบบ่อยนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่าอาการ Long COVID มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย 
 

สำหรับมีลักษณะอาการร่วมที่พบได้บ่อยที่สามารถนำมาสรุป  ได้แก่

 

  • อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  • มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย
  • ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า
  • มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
  • มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง
  • ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ
  • นอนไม่หลับ หลับยาก
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร
  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล