หลังจากภาครัฐฯได้เพิ่มหน่วยบริการ เจอ แจก จบ ที่ร้านขายยา โดยให้บริการสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด -19 สีเขียว ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก ล่าสุดพบว่ามีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการนี้แล้วกว่า 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับสปสช.แล้ว 462 แห่ง และดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว 5,010 ราย/บริการ 5,022 ครั้ง
ทั้งนี้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมให้บริการได้ (คลิกที่นี่) ซึ่งร้านขายยาจะให้บริการยาและติดตามอาการ 48 ชั่วโมง ตามระบบ เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดไว้
สำหรับขั้นตอนการรับยาที่ร้านขายยา มีดังนี้
1.ผู้ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด อาการไม่รุนแรง (กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว) สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.-สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ,สิทธิข้าราชการ,สิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกันตน (มติบอร์ด สปส.19 เมษายน 2565)ที่
2.โทรติดต่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยร้านยาจะให้แอดไลน์ (ไม่จำเป็นต้องมาที่ร้านยา)
3.ร้านยาจัดส่งยาทางไปรณีย์และให้คำปรึกษาฟรี
ทั้งนี้ร้านขายยา สามารถลงทะเบียนเข้าระบบ AMED ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ยืนยันตัวตนผู้ป่วยผ่านระบบทางไกล
2.ซักประวัติข้อมูลทั่วไป
3.จ่ายยาตามกำหนด พร้อมจัดส่งและให้คำแนะนำการใช้ยา
4.ให้คำแนะนำปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัว
5.ติดตามการใช้ยาทุกวันต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง
อนึ่งร้านยาจะรับค่าใช้จ่ายกรณีบริการทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สำหรับอัตราค่าบริการจะเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาทต่อราย ครอบคลุมบริการ ดังนี้
1.บริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน
2.ค่ายาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมค่าบริการจ่ายยากรณีที่แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะในการดูแลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยรวมค่าจัดส่งยา
3.ค่าบริการให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก
4.การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเพิ่มเติมแบบเหมาจ่ายในอัตรา 150 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ติดต่อกลับร้านยาเพื่อขอรับคำปรึกษาหลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล