โครม! เอาอีกแล้ว รถชนกันกลางดึก วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้เสียหายเป็นหญิงวัย 21 ปี ซึ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาล ขี่รถจักรยานยนต์ บน ถ.รามคำแหงขาออก มุ่งหน้าแยกสวนสน เมื่อถึงแยกลำสาลี มีรถคันหนึ่งขับตัดหน้า เกิดเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บแขนหักผิดรูป รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นี่คือสิ่งที่ปรากฏตามรายละเอียดการแจ้งความของผู้เสียหาย
ซึ่งดาราชาย คือ ขุน ชานนท์ อักขระชาตะ เมื่อผู้เสียหายมีการติดตามสอบถาม มีตัวแทนหรือผู้จัดการตอบกลับเชิงท้าทาย ให้แจ้งความ
ตามรายงานระบุว่า ตอนแรกตกลงกันว่าจะชดใช้ให้ทุกอย่าง แต่ภายหลังกลับต่อรองเยียวยาเหลือแค่หนึ่งหมื่นบาท ต่อมาผู้เสียหายได้มาแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สน.หัวหมาก ในวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์มีการออกมาแชร์เรื่องพฤติกรรมของ "ขุน-ชานนท์ อักขระชาตะ" โดยมีชาวเน็ตหลายคน เข้าไปคอมเมนต์โจมตีอย่างหนักหน่วง
ความคืบทางคดี พ.ต.ท.นพพร ศรีสุชาติ รอง ผกก.สส.สน.หัวหมาก เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อเรียกคู่กรณีมาให้ปากคำ เเละตรวจสอบว่า ฝ่ายใดถูก ผิด โดยจะเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างคู่กรณีเพื่อตกลงกันว่า จะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรได้บ้าง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
แต่ตำรวจติดต่อได้แต่เพียงฝ่ายผู้เสียหาย ส่วนฝ่ายขุน ชานนท์ ยังไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่กรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก และความผิดทางคดีอาญาที่ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
ล่าสุด ขุน ชานนท์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “โหนกระแส” ว่า หลังเกิดเหตุได้เดินทางไปถ่ายงานที่ต่างจังหวัด เป็นการถ่ายทำบนเขาพื้นที่ จ.เพชรบุรี ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ ส่วนตัวยอมรับผิด และยินดีรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ตามที่ทางแม่ผู้บาดเจ็บเรียกร้องมาจำนวน 20,000 บาท
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความปลอดภัยบนถนน ความรับผิดชอบของใคร? เมื่อพิจารณาตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้รถ ใช้ถนนไว้อย่างชัดเจน พร้อมบทกำหนดโทษเมื่อมีการฝ่าฝืน พ.ร.บ. และประมวลกฎหมายอาญา
ก่อนที่จะสามารถใช้รถใช้ถนนได้นั้น ผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคน ก็ต้องผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่ ดังนั้นก็ต้องรับทราบและเข้าใจกฎจราจรมาแล้ว
แต่คำถามคือทำไมอุบัติเหตุบนถนนจึงซ้ำซาก และเรื้อรังมาตลอด ??
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดว่ากรณีมีการเฉี่ยวชนคน บาดเจ็บ และเสียชีวิต คนขับมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 คือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามมาตรา 291 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หากชนคนข้ามทางม้าลาย โดยที่ไม่หยุดให้คนข้าม มีโทษปรับเพิ่ม 1,000 บาท หากนอกเหนือจากโทษอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ขณะที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมฐานละเมิดเป็นคดีแพ่งได้อีก
สัญญาณไฟข้ามถนนในเขตชุมชนที่มาคู่กับทางม้าลาย หากฝ่าไปมีโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก โดยมีความผิด ฐานฝ่าฝืนขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท และหากฝ่าสัญญาณไฟ ขณะมีคนข้ามทางม้าลายจะเข้าข่ายความผิดขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น
กรณีชนแล้วหนี มาตรา 160 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน 78 จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การชนแล้วหนีถือเป็นความผิดทางอาญา มีอายุความนานถึง 15 ปี เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ใช้ขับหลบหนีได้ หากผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุไม่แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้กระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐโดยทันที
มาตรา 21 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวมถึงต้องหยุดรถเพื่อให้คนข้ามทางม้าลาย และตามตามมาตรา 32 กำหนดให้ ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 152 คือ ปรับไม่เกิด 1,000 บาท
การจอดรถทับทางม้าลายหรือในระยะ 3 เมตรจากทางม้าลาย มีความผิดตามมาตรา 57 และตามมาตรา 70 ได้กำหนดให้ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ โดยทั้ง 2 กรณีมีโทษตามมาตรา 148 คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท
กรณีที่รถคันหลังชนท้ายรถคันหน้าที่เบรกให้คนข้าม ตามกฎหมายจราจร มาตรา 40 กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างรถคันหน้าพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัยในเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถขึ้นสะพานหรือทางลาดชันต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถถอยหลังไปโดนรถคันอื่น ขณะที่มาตรา 57 และมาตรา 70 ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้ขับจะต้องลดความเร็วเมื่อเข้าใกล้ทางข้าม และต้องหยุดรถให้ห่างจากทางม้าลายเป็นระยะเท่าใด ฉะนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ข้ามแต่อย่างใด
สำหรับคนข้ามถนนหากไม่ข้ามทางม้าลาย สะพานลอยในระยะ 100 เมตร มีความผิดตามมาตรา 104 โดยลงโทษตามมาตรา 147 คือ ปรับไม่เกิน 200 บาท มาตรา 104 ได้กำหนดเป็นข้อห้ามไว้ว่า ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้ามห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม
เวลาเกิดอุบัติเหตุและเป็นประเด็นขึ้น หลายหน่วยงานต่างออกมาเสนอให้มีการปรับโทษให้สูงขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือผู้ใช้รถ ใช้ถนน ต้องตระหนักถึงวินัยจราจร เเละความรับผิดชอบต่อสังคมเเละผู้อื่น ?