โควิดวันนี้ 4 เดือน โอมิครอนติดเชื้อ ตายสูงกว่าเดลตากี่เท่า อ่านเลย

02 พ.ค. 2565 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2565 | 08:55 น.

โควิดวันนี้ 4 เดือน โอมิครอนติดเชื้อ ตายสูงกว่าเดลตากี่เท่า อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้ความหวังเป็นโรคประจำถิ่นยังห่างไกล

โควิดวันนี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ยังอยู่ในระดับสูง 
 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

4 เดือนเต็มของไวรัส Omicron ติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าไวรัส Delta (เดลตา) ที่ 4 เดือนเท่ากัน และการเป็นโรคติดต่อทั่วไปยังห่างไกล

 

วันนี้ 30 เมษายน 2565 ครบ 4 เดือนเต็มแล้ว สำหรับการระบาดระลอกที่สี่จากไวรัส Omicron

 

ข้อมูลต่างๆสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า เราได้ผ่านจุดสูงสุดหรือพีคของระลอกนี้แล้ว ในช่วงปลายมีนาคมต่อต้นเมษายน 2565 และกำลังอยู่ในช่วงขาลง

 

ประเด็นที่คนทั่วไปอยากทราบก็คือในระลอกที่ 4 หรือ Omicron นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับระลอกที่ 3 หรือ Delta ในช่วงระบาด 4 เดือนเท่ากัน มีความแตกต่างกันอย่างไร และจะจบลงอย่างไร เมื่อใด

 

มิติหนึ่งที่มีการพูดถึงกันคือ เรื่องโรคติดต่อทั่วไปหรือคำเดิมที่ใช้คือโรคประจำถิ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เคยส่งสัญญาณต่อสาธารณะว่า มีเป้าหมายที่จะพยายามทำให้ได้ใน 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น

 

วันนี้เราจะลองมาวิเคราะห์กันโดยละเอียด ถึงสถานการณ์ของโควิดจากไวรัส Omicron ว่าเมื่อครบ 4 เดือนแล้วเป็นอย่างไร และเมื่อเปรียบเทียบกับระลอกที่ 3 จากไวรัสเดลต้าในช่วง 4 เดือนเท่ากัน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

และประการสุดท้าย จะมาวิเคราะห์เรื่องความเป็นไปได้ ที่โควิดจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด

 

1.เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ของโควิดจากไวรัส Omicron กับ Delta ในช่วง 4 เดือนเท่ากัน คือ

 

ไวรัส Omicron 
ในช่วง 1 มค-30 เมย 2565 
ส่วนไวรัส Delta 
ใช้ข้อมูล 1 เมย-31 กค 2564

 

ข่าวโควิดวันนี้ 4 เดือนโอมิครอนติดเชื้อ-ตายมากกว่าเดลตากี่เท่า

 

พบข้อมูลสำคัญดังนี้

 

1.1 จำนวนผู้ติดเชื้อ

  • ผู้ติดเชื้อแบบ PCR
  • จาก Omicron มากกว่า Delta อยู่ 3.6 เท่าคือ 
  • ติดเชื้อ Omicron 2,027,514 ราย 
  • ติดเชื้อ Delta 568,424 ราย

 

แต่เนื่องจากไวรัส Omicron ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อจาก PCR ไม่สะท้อนความเป็นจริง จึงต้องรวมตัวเลขจากผู้ติดเชื้อจาก ATK เข้ามาด้วย

ผู้ติดเชื้อแบบ PCR+ATK

 

เมื่อดูผู้ติดเชื้อรวมจาก PCR และ ATK พบว่าผู้ติดเชื้อจากไวรัส Omicron จะมากกว่าไวรัส Delta 6.3 เท่าคือ

 

  • Omicron ติดเชื้อ 3,592,643 ราย
  • Delta ติดเชื้อ 568,424 ราย

 

2. จำนวนผู้เสียชีวิต
พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส Omicron มากกว่าไวรัส Delta 1.4 เท่า โดยเสียชีวิตจาก

 

  • ไวรัส Omicron 6828 ราย
  • ไวรัส Delta 4764 ราย

 

3. อัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ

 

อัตราผู้เสียชีวิตจากไวรัส Omicron น้อยกว่าไวรัส Delta 2.5-4.4 เท่า

 

โดยผู้เสียชีวิตจากไวรัส Omicron เมื่อคิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อแบบ PCR จะเท่ากับ 0.33%

 

แต่ถ้ารวมผู้ติดเชื้อ ATK ด้วย อัตราการเสียชีวิตลดลงมาเป็น 0.19%

 

ส่วนผู้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจากไวรัส Delta เท่ากับ 0.84%

 

4. มิติเรื่องในอนาคต โควิดจากไวรัส Omicron จะกลายเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้นั้น จะต้องใช้เกณฑ์ทางวิชาการหลายตัวด้วยกัน

 

หนึ่งในนั้นที่สำคัญมาก และเราจะวิเคราะห์กันในวันนี้ก็คือ อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ โดยใช้ค่าเฉลี่ย 7 วัน โดยจะถือว่าเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ ต่อเมื่อประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตดังกล่าวน้อยกว่า 0.1% เป็นเวลาสองสัปดาห์ต่อเนื่องกัน

 

ข่าวโควิดวันนี้ 4 เดือนโอมิครอนติดเชื้อ-ตายมากกว่าเดลตากี่เท่า

 

ในขณะนี้พบว่า อัตราผู้เสียชีวิตของไทย เฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง ในช่วงวันที่ 24-30 เมษายน 2565 อยู่ที่ 0.48%  หรือสูงกว่าเกณฑ์เกือบ 5 เท่าตัวคือมีผู้ติดเชื้อรวม 180,342 ราย

 

  • เฉลี่ยวันละ 25,763 ราย
  • มีผู้เสียชีวิต 877 ราย
  • เฉลี่ยวันละ 125 ราย
  • คิดเป็น 0.48%

 

การจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้นั้น จะต้องมีอัตราผู้เสียชีวิตเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันดังกล่าวน้อยกว่า 0.1% คือจะต้องลดลงกว่านี้อีก 5 เท่าตัว

 

หมายความว่า ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานยังอยู่ที่ระดับวันละ 25,000 ราย จะต้องมีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 25 ราย

 

โดยถ้าผู้ติดเชื้อยังคงเสียชีวิตในระดับวันละ 125 ราย การที่จะอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 0.1% จะต้องมีผู้ติดเชื้อรวม 125,000 รายต่อวัน

 

ซึ่งคาดการณ์กันว่า ในปัจจุบันก็มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับวันละมากกว่า 100,000 รายอยู่แล้ว เพียงแต่สามารถตรวจพบด้วย PCR และมีการรายงานหลังจากตรวจ ATK เข้ามาเพียงวันละ 20,000 รายเศษ

 

การค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด จะยิ่งทำให้อัตราผู้เสียชีวิตเมื่อคิดเป็นร้อยละแล้ว จะลงมาใกล้เคียงกับ 0.1% ได้

 

มาตรการทางด้านการตรวจ PCR ให้มากขึ้นนั้น มีข้อจำกัดหลายประการซึ่งเหมือนกันทั่วโลก ไทยสามารถตรวจได้ไม่เกินวันละ 100,000 ตัวอย่าง

 

แต่มาตรการการตรวจหาผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือการตรวจด้วย ATK จะเป็นวิธีการที่สามารถทำการตรวจได้ครอบคลุมกว้างขวางใกล้เคียงความจริงได้มากกว่า

 

โดยภาครัฐสามารถขยายบริการที่ดำเนินการดีอยู่แล้วคือ การให้งบประมาณสนับสนุนผ่าน สปสช.ให้ภาครัฐและเอกชนออกตรวจ ATK เชิงรุกโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้กับสถานบริการ หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป

 

ซึ่งวิธีดังกล่าว จะทำให้มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อจริงกลับเข้ามาใกล้เคียงความจริงมากขึ้น

 

และมีโอกาสทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาใกล้เคียง 0.1% ซึ่งจะเข้าเกณฑ์โรคติดต่อทั่วไปต่อไป

 

มิเช่นนั้นแล้ว การที่โควิดจะกลายเป็นโรคติดต่อทั่วไป ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ก็คงจะเป็นไปได้น้อย

 

สรุป

 

  • จำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัส Omicron มีมากกว่าจากไวรัส Delta  6.3 เท่า
  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส Omicron มีมากกว่าไวรัส Delta 1.4 เท่า
  • อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจากไวรัส Omicron น้อยกว่าไวรัส Delta 4.4 เท่า
  • โควิดของไทยจะกลายเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ (โรคประจำถิ่น) จะต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้ใกล้ความจริงมากที่สุด ซึ่งต้องเน้นไปที่การตรวจ ATK เชิงรุกโดยภาครัฐ