ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) ในเขตเทศบาลนครแม่สอด ได้ริเริ่มโดยนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครแม่สอด ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา
ล่าสุดนายสมบุญ หิรัณยโชติ ปลัดเทศบาลนครแม่สอด และรักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครแม่สอด พร้อมด้วยว่าที่พันตรี ดร.ไพฑูรย์ ปริญญาธรรมกุล ผู้อำนวยกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ สมาชิกสภาเทศบาล(สท.)นครแม่สอด ในชุดปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการร่วมหารือ และทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ภายใต้โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินบริเวณถนนประสาทวิถี ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร
โดยสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) บันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน บริเวณถนนประสาทวิถี ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เพื่อความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยแก่ประชาชน ในเขตเทศบาลนครแม่สอด ตามแนวทางการพัฒนาเมืองแม่สอดน่าอยู่และทันสมัย (Smart city) สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ที่มาของโครงการนั้น สืบเนื่องมาจากสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลที่ไม่เป็นระเบียบ ในเขตพื้นที่เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดตาก ที่มีเทศบาลนครแม่สอด เป็นต้นเรื่อง ได้นำเสนอรัฐบาล ให้นำสายไฟฟ้าและเคเบิลสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อความสวยงาม เตรียมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครแม่สอด โดยคาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
ประกอบกับที่ผ่านมานั้น เสาไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ ที่ไม่เป็นระเบียบ ในเขตพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นห่วง หลังรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนจัดตั้งให้อ.แม่สอด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการค้าชายแดนในอนาคต
เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และแนวคิดที่ดี ในการนำสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ และเคเบิลสื่อสารต่าง ๆ ลงใต้ดิน จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดินนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ได้เสนอ 8 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่นำร่องไปแล้ว 2 แห่ง
สำหรับโครงการนำสายไฟฟ้าและเคเบิลสื่อสารลงใต้ดิน คณะทำงานด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก ได้มีการรวบรวมข้อมูล จากบริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางสาย เช่น องค์การโทรศัพท์, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปา รวมทั้งสายเคเบิล ทีวี ของบริษัทเอกชน และได้ส่งเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาไปแล้ว