จากกรณีที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่า "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน" ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 02 พฤษภาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศกัมพูชา
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากภัยดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนองซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน
พายุฤดูร้อนคืออะไร
พายุฤดูร้อนเกิดในเดือนไหน
ก่อนเริ่มต้นฤดูฝน แผ่นดินได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าในช่วงอื่นๆ ของปี ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น กระแสลมในช่วงนี้ พัดเข้าสู่ประเทศไทยจากทางตอนใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ คือ จากทางด้านอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ หากในเวลาเดียวกัน มีลมฝ่ายเหนือพัดผ่านมาจากประเทศจีน ทำให้กระแสลมซึ่งมีมวลอากาศที่มีคุณสมบัติต่างกัน คือ กระแสลมใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอากาศร้อนและชื้นพัดผ่านทะเลมา และกระแสลมเหนือเป็นอากาศแห้งและเย็นพัดผ่านพื้นทวีปมา จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงได้เป็นแห่งๆ บางโอกาสจะมีลมพัดแรงเป็นเวลา 10 - 15 นาที หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว โดยอาจมีกำลังแรงถึง 40 นอต หรือ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่เกิดในบริเวณไม่กว้างนัก คือ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 - 30 ตารางกิโลเมตร พายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ประมาณ 30 - 40 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง.