โควิด-19 คลี่คลาย สธ.ประกาศลดเตือนภัยลงสู่ระดับ 3 จาก 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

09 พ.ค. 2565 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 15:16 น.

“โควิด-19” คลี่คลาย สธ.ประกาศลดระดับเตือนภัยลงสู่ระดับ 3 จาก 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ คลายล็อกทำกิจกรรมได้เกือบหมด ยกเว้นกลุ่ม 608 ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ เลี่ยงรวมกลุ่มคนจำนวนมาก-ใช้บริการขนส่งสาธารณะ

วันนี้(9 พ.ค.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณ์โรคโควิด-19 ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศแนวโน้มลดลงชัดเจน จึงสามารถลดระดับการเตือนภัยลงได้ รวมถึงทั่วโลกก็มีการลดระดับลงแล้วเช่นกัน 


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คำแนะนำประชาชนในการเตือนภัยที่ระดับ 3 คือ 1.การไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด 
 

2.การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก 

 

3.การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท 

และ 4.เดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย หลังสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยหนัก เริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ต่อเนื่อง และกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย


“จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง เปลี่ยนผ่านจากระยะ plateau เข้าสู่ระยะ Declining ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic โดยทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach)”


ทั้งนี้เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ “2U” Universal Prevention + Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60 % และ “พอ” เตียงเหลือง-แดง, ยา เวชภัณทั วัคซีน, บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน


นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า จากระยะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่น ขณะนี้ภาพรวมประเทศอยู่ใน ระยะที่ 2 คงตัว (Plateau) โดยมี 23 จังหวัดอยู่ในระยะนี้ และอีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะที่ 3 ดีขึ้นมีสถานการณ์ที่ลดลง มีแนวโน้มเข้าสู่หลังการระบาดใหญ่หรือการเป็นโรคประจำถิ่นเข้าไปทุกขณะ


“หนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะพิจารณาการเป็นโรคประจำถิ่น คือ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้เป็นจังหวัดนำร่อง ก็จะต้องย้ำว่า นอกจากการดูที่สถานการณ์แล้ว จะต้องดูที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพราะถ้าหากอนาคตไวรัสมีการกลายพันธุ์และมีความรุนแรงขึ้นอีก การฉีดวัคซีนจะช่วยได้อย่างมาก” อธิบดีกรมควบคุมโรค


สำหรับ 23 จังหวัดที่อยู่ในระยะคงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ระยะลดลง


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในช่วง พ.ค.2565 จะมีหมุดหมายเรื่องของการเปิดเรียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยครูและบุคลากรมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 90 % ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี มีการฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 90 % เพราะฉะนั้นต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส หรือเต็มโดส 


ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี มีจำนวนเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น 54.5 % และเข็มที่ 2 แล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น 17.4 % โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติมจำนวน 1.6 แสนคน