เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 วันไหน ลงคะแนนล่วงหน้าได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

09 พ.ค. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 16:22 น.

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.- ส.ก. 2565 วันไหน เปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าก่อน 22 พ.ค. หรือไม่ ต้องทำอย่างไรถ้าไม่อยากถูกจำกัดสิทธิสำคัญ 2 ปี ที่นี่มีคำตอบให้อ่านเลย

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครปีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดให้การลงคะแนนเลือกตั้งทั้งในส่วนของ ผู้ว่าฯกมม.และ ส.ก. ในวันเดียวกัน คือ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 8.00- 17.00 น. ซึ่งไม่มีการเปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมาย กกต.ไม่ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.

 

คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.2565

  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน อันทำให้บุคคลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี

วิธีแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.

กรณีมีเหตุอันสมควร

ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อ กกต. ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้งหรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้งให้ดำเนินการแจ้งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยการแจ้งเหตุดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเป็นหนังสือหรือโดยวิธีการอื่นเพื่อชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อ กกต. แทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

ในกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้น มิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเหตุ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้ง มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต. ประจำจังหวัดภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

 

การแจ้งเหตุด้วยวิธีการแจ้งเหตุทางอิเล็กทรอนิกส์

บุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่รับแจ้งเหตุ การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด โดยในการกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยในการนี้

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดรายละเอียดของเหตุที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งด้วย

 

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 วันไหน ลงคะแนนล่วงหน้าได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

ขั้นตอนการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิทางอิเล็กทรอนิกส์

1.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งเหตุจำเป็นภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งหรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ผ่านทางช่องทาง ดังนี้

 

  • เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th
  • เว็บไซต์ www.ect.go.th
  • แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"

 

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 วันไหน ลงคะแนนล่วงหน้าได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

2. กรอกข้อความในแบบแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ถูกต้องครบถ้วน และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด เมื่อยืนยันข้อความที่ได้กรอกแล้ว ระบบจะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติ

 

3. พิมพ์แบบการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจัดเก็บสำเนาข้อมูลไว้ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐาน

 

กรณีไม่มีเหตุอันสมควร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้

 

  1. การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. /ส.ถ./ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.
  2. การสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. การเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ.หรือ ผ.ถ.
  4. การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. การดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริการท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. การดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

 

ระยะเวลาจำกัดสิทธิ

การจำกัดสิทธิดังกล่าว ให้มีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ และหากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง