'น้ำท่วม' งานแรกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

10 พ.ค. 2565 | 01:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 09:04 น.

นับถอยหลังเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. วันที่ 22 พ.ค. ขณะ ดร.สามารถ ยกงานเร่งด่วน 'ฝนตก' - 'น้ำท่วม' ภารกิจแรก โจทย์หินของ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

10 พ.ค.2565 - นับถอยหลังเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น สำหรับการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้



ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่า กทม. ให้ความเห็นถึงภารกิจเร่งด่วนของ 'ผู้ว่า กทม.คนใหม่ ' คงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาน้ำท่วม  น้ำรอระบาย ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซาก และจะหนักหนาสาหัสเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน



ทั้งนี้ อยากเห็นนโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น การวางท่อระบายน้ำใหม่ , แก้มลิงใต้ดิน ,แก้ปัญหาคอขวด เป็นต้น ตามใจความดังนี้ ...

เรากำลังจะมีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ในช่วงหน้าฝน ดังนั้น งานแรกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ก็คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน จะแก้ได้หรือไม่ ? ต้องติดตาม
 

1. กทม. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมแล้วหรือยัง ?

โดยปกติก่อนหน้าฝนหรือก่อนฝนตกหนัก กทม.ได้ดำเนินการรับมือกับปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างดี อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น
 

ปัจจุบัน กทม. ควบคุมการทำงานของระบบระบายน้ำโดยใช้ SCADA (ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time) เพื่อติดตามระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ และการทำงานของเครื่องสูบน้ำ โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทางโทรศัพท์มือถือ หลายคนคงไม่รู้ว่าเครื่องสูบน้ำที่ กทม.ใช้อยู่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า แต่ต้องมีเครื่องสูบน้ำดีเซลและเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีไฟดับ และที่สำคัญ กทม.ได้ใช้เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติมานานแล้ว แต่ต้องมีคนเฝ้าคอยแก้ปัญหาเมื่อเครื่องขัดข้อง เช่น มีขยะมาติด

\'น้ำท่วม\' งานแรกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

แม้ กทม.ได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี “คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ
 

“คอขวด” คือท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำจากพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ “แอ่งกระทะ” ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว
 

2. ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเร่งแก้ “คอขวด” ระบบระบายน้ำ
 

กทม. ได้สร้างอุโมงค์หรือ “ทางด่วนน้ำ” เพื่อขนน้ำไปปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ถึงเวลานี้เปิดใช้แล้ว 4 อุโมงค์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 อุโมงค์ กำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ แต่อุโมงค์ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำไหลไปถึงปากอุโมงค์ได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากถนนมีขนาดเล็ก ทำให้เกิดสภาพ “คอขวด” ไม่สามารถขนน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กทม. จะต้องเร่งแก้ปัญหาคอขวด เพื่อทำให้ “อุโมงค์” เป็น “ทางด่วนน้ำ” ให้ได้
 

วิธีแก้ปัญหา “คอขวด” ระบบระบายน้ำมีดังนี้

2.1 ติดตั้งรางรับน้ำ (Gutter) บนถนนชิดทางเท้า

เมื่อฝนตกหนัก จะเห็นว่าน้ำไหลลงบ่อพักได้ช้า ทั้งๆ ที่น้ำในท่อระบายน้ำยังไม่เต็ม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องรับน้ำที่บ่อพักมีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไหลลงบ่อพักไม่ทัน น้ำจึงเอ่อล้นถนน วิธีแก้ก็คือจะต้องติดตั้งรางรับน้ำบนถนนชิดทางเท้าที่มีความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะช่วยทำให้น้ำบนถนนไหลลงรางรับน้ำและบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว ไม่เอ่อล้นบนถนน ซึ่งวิธีนี้ กทม.ได้นำมาใช้แล้ว ปรากฏว่าได้ผลดี ควรทำต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
 

2.2 วางท่อระบายน้ำใหม่

กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วน โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะรับน้ำจากถนนเพื่อขนไปสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว น้ำจากปากอุโมงค์จะไหลไปท้ายอุโมงค์ แล้วถูกสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อุโมงค์ทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์
 

3.  นอกจากแก้ “คอขวด” แล้ว ผู้ว่า กทม. คนใหม่ควรเร่งสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน”

ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ และไม่มีที่ว่างหรือบึงที่จะสร้างเป็น “บึงแก้มลิง” ได้ จำเป็นต้องสร้างแก้มลิงใต้ดินไว้เก็บน้ำฝนส่วนเกินที่ระบบระบายน้ำจะสามารถรองรับได้ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในท่อระบายน้ำและคลองพ้นวิกฤตแล้ว จึงทยอยระบายน้ำออกสู่ท่อระบายน้ำ คู คลองต่อไป แก้มลิงใต้ดินจะช่วยลดน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบๆ ได้
 

ถึงเวลานี้ กรุงเทพฯ มีแก้มลิงใต้ดินแล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย (1) บริเวณ สน. บางเขน มีความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (2) ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง มีความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (3) ใต้ดินรัชวิภา (ถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และ(4) ใต้ทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
 

4. ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนไหนที่รู้จริงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ?

จะเฟ้นหาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่รู้จริงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้โดยดูจากนโยบาย การดีเบต หรือการแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะรู้ได้ว่าใครรู้จริง ทำได้จริง มีข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เพ้อฝัน ไม่คุยโม้โอ้อวดด้วยข้อมูลผิดๆ  ไม่ยกตนข่มท่านแต่สุดท้ายกลายเป็น “ปล่อยไก่”
 

สำหรับผมนั้นได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ !