โครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน , Fantopy Thailand , เพจดูบอลกับเพื่อน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดกิจกรรม “การแข่งขันฟุบอลิงปฏิบัติการ – Football Anti-Gambling” ขึ้น ณ สนามสตาร์ทพาวเวอร์ เชียงราย เมื่อปลายเดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักกีฬา หรือ นักเตะฟุตบอล ที่รักในเกมการกีฬาให้มีความรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงของการพนันที่จะมาทำลายคุณค่าของกีฬา
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ออกแบบให้มีการแข่งขันฟุตบอลจากทีมเข้าร่วมจำนวน 6 ทีม แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สาย A และ สาย B ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมฟุตบอลเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ โดยในการแข่งขันจริงก็มีการจำลองสถานการณ์ให้นักเตะที่แข่งขันได้เล่นพนันทายผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น
เพื่อดูว่าวงการกีฬาเมื่อมีเงินเดิมพันเข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร ฟอร์มการแข่งขันจะดีไหม สปิริตในทีมเป็นอย่างไร มันสะท้อนอะไรมากมายในครั้งนี้” นายสุบัณฑิต ปานสมบัติ - เดอะจ๊วบ ผู้ออกแบบกิจกรรม และผู้จัดรายการเพจ “ดูบอลกับเพื่อน” กล่าว
ด้าน นายสันติ ปูนันคำ กัปตันทีมขุดดิน ตชด. จ.เชียงใหม่ ทีมแชมป์ กล่าวว่า “ดีใจที่ได้มาร่วมสนุกกับเพื่อน ๆ แต่เกมแข่งครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา จะรู้สึกเกร็งๆ ไม่เป็นตัวเอง เพราะพอเราทายผลชนะที่ทีมเรา ก็จะรู้สึกกดดันและเครียดเอง แบบต้องเล่นให้ได้แต้มจะได้ชนะ
แต่พอทายทีมตรงข้ามก็จะเล่นแบบขอไปที ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นนักเตะเลย หมดกำลังใจในการแข่งขัน”
ด้าน ครูอาร์ต – ธนัตถ์นินทร์ แสนอาทิตย์ ตัวแทนผู้ตัดสิน จากชมรมผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอล จ.เชียงราย เผยถึงประสบการณ์การตัดสินที่ผ่านมาว่า “พนันถ้าเข้ามาในเกมกีฬา สภาพแวดล้อมของการแข่งขันจะเปลี่ยนไปทันที เห็นได้ชัดเจนนักเตะจะเล่นแรงขึ้น เพราะมีสิ่งล่อใจเพิ่มขึ้นจากรางวัลปกติ
ในสนามแข่งถ้าเล่นดุเดือด ผู้ตัดสินยังคุมเกมได้ แต่ด้านนอกสนามถ้ากองเชียร์มีการแทงบอล-เล่นพนันด้วยแล้ว เราคุมไม่ได้ เราจึงเห็นในลีกของไทยที่กองเชียร์เข้าไปทำร้ายนักเตะและผู้ตัดสิน ก็เพราะผีพนันเข้าสิง จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมาออกกำลังกาย เล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ไม่สนับสนุนการพนันในการกีฬา เพื่อที่ฟุตบอลไทยของเราจะได้พัฒนาไปสู่บอลโลกได้”
ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และนักวิจัยศูนย์ศึกษาปัญหาจากการพนัน (CGS) ผู้สังเกตการณ์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สรุปบทเรียนที่ได้รับว่า
“พนันทำลายคุณค่ากีฬาแน่นอน เพราะผลกระทบจากพนันทำให้ผู้เล่นกีฬาลดศักดิ์ศรีในตัวเอง ทำลายสปิริตความเป็นนักนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ปัจจุบันพบเยาวชนเล่นพนันกว่า 4 ล้านคน และยังมีอีกส่วนใหญ่ที่อยู่บนความเสี่ยงของการพนัน ซึ่งมีโอกาสถลำตัวไปสู่ผู้เล่นพนันได้ง่ายขึ้น
ซึ่งผลการจำลองสถานการณ์แทงบอลในครั้งนี้ พบพฤติกรรมการเล่นก็จะเล่นตาม ๆ กัน เล่นตามเพื่อน ได้ก็ได้ด้วยกัน เสียก็เสียด้วยกัน แล้วผลการเก็บข้อมูลการทายผลการแข่งขันก็พบว่าคนเล่นจะขาดทุนมากกว่า
แสดงให้เห็นว่าในภาพจริงการเล่นพนันทายผลฟุตบอล ผู้เล่นไม่มีโอกาศชนะโต๊ะบอล หรือเจ้ามือผู้รับทายแน่ ๆ”
แมตซ์แข่งขัน Football Anti-Gambling จึงเป็นเสมือนห้องเรียนชีวิต ที่ทำให้เครือข่ายเยาวชน และนักเตะได้เห็นคุณค่าของการแข่งขันกีฬาในทุกรูปแบบ และรักษาศักดิ์ศรีความเป็นนักกีฬาของตนเอง ที่มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อต่อรองในเกมการพนัน เพราะไม่เช่นนั้น “นักกีฬา” ก็ไม่ต่างจาก “ไก่ชน” ที่ตีกันให้คนดูได้แค่เพียง สะใจ !!!