จี้เอาผิด "ผับ-บาร์" ขายเหล้าให้เด็ก – มียาเสพติด ต้องถูกปิด 5 ปี

10 พ.ค. 2565 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 23:58 น.

ภปค.หนุนเอาผิด ผับ-บาร์ นอกรีด ขายเหล้าให้เด็ก – มียาเสพติด ต้องถูกปิด 5 ปี ย้ำเข้าใจ ความเดือดร้อนผู้ประกอบการช่วงโควิด  แต่ไม่ใช่เหตุผลฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย โกยเงินจากเด็กและเยาวชน  ค้านข้อเสนอขายเหล้า 14.00-17.00 น.  

จากกรณีชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ร่วมกับศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 (ศอ.กต.) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และกองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.)

 

บุกตลาดค่ายเชลยศึก กาญจนบุรี บริเวณริมสะพานข้ามแม่น้ำแคว ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 23.00 น. หลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เปิดพลงเสียงดังสร้างความรำคาญให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียง

ซึ่งจากการตรวจค้นพบลักษณะคล้ายลานเบียร์ มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีไปใช้บริการ 46 คน อายุต่ำสุด 14 ปี พร้อมให้การว่ามาเที่ยวประจำ สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ปกติ ไม่มีการสอบถามอายุ

 

ดังนั้นเจ้าพนักงานได้จับกุมผู้จัดการร้านและกล่าวโทษบริษัทในข้อหาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า20ปีบริบูรณ์, ยุยงส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร,ส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (จัดโปรโมชั่นลดราคา) และจำหน่ายสุราโดยไม่มีใบอนุญาต

 

ก่อนรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2558 ต่อไป ส่วนเด็กได้ประสานผู้ปกครองมารับตัวกลับ 
 

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค.นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ภปค.เข้าใจถึงความยากลำบากของการประกอบธุรกิจในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสกระทำผิดกฎหมายได้

 

การขายเหล้าให้เด็กถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ดื่ม และส่งผลกระทบต่อสังคม

 

ทั้งนี้ การมีอยู่ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 เรื่องการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องคือการรักษาสมดุลระหว่างการใช้สิทธิตามปกติของผู้ขาย ผู้ดื่ม และสวัสดิภาพหรือความปลอดภัยของสังคมโดยรวม

 

ดังนั้นนักการเมือง หรือประชาชนบางกลุ่มที่พยายามจะลดทอนประสิทธิภาพในเนื้อหาของของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่พูดเพื่อให้ได้รับความนิยมจากบรรดานักดื่มเท่านั้น

 

“ในคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ระบุกรณีที่มีการทำผิดฏหมายร้ายแรง เช่น ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำ20ปี เปิดบริการหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด และยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่

 

ร้านที่ฝ่าฝืน ผู้ว่าฯ ต้องดำเนินการสั่งปิด 5 ปี  และถ้าร้านนั้นอยู่ใกล้สถานศึกษา (โซนนิ่ง) จะต้องดำเนินการปิดถาวร เพราะฉะนั้นสถานบริการที่ค้าขายถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องเกรงกลัวและไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งฉบับนี้แต่ประการใด

 

"ภปค.ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และขอคัดค้านข้อเสนอให้เพิ่มเวลาขายเหล้าช่วง 14.00-17.00 น. เพราะจะยิ่งเพิ่มปัญหาบรรดาผู้ประกอบ ควรขายตามกติกาที่กฎหมายกำหนดไว้จะดีกว่า” นายธีรภัทร์ กล่าว

นายชูวิทย์  จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์

ด้าน นายชูวิทย์  จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการขายเหล้าเบียร์ให้เด็ก ในร้านมียาเสพติด มีเด็กเข้าใช้บริการ  มีข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงโควิดระบาดหนัก แสดงว่ายังมีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสขาดความรับผิดชอบ หวังกอบโกยทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้มาตรการขั้นสูงสุดกับกลุ่มนอกรีตเหล่านี้  

 

และน่าเห็นใจผู้ประกอบการที่ตั้งใจทำตามกฎหมาย จึงขอให้กำลังใจในการค้าขายบนความถูกต้อง ไม่หาประโยชน์กับเด็ก อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุส่งข้อมูลการทำผิดกฎหมาย ไปยังศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด เพื่อลดผลกระทบและปกป้องลูกหลานของเรา