นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องประสบกับปัญหาความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ มีปัญหาทางด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ตะโกน และก้าวร้าว เป็นต้น รวมทั้งมีอาการทางจิตประสาท เช่น หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอนตลอดจนไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ และไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่นเช่นกัน
ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงต้องทำความรู้ความเข้าใจกับภาวะของโรคสมองเสื่อม เพื่อจะได้ให้การดูแลและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น
ด้านนายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะโรคสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยต้องประสบอยู่ การดูแลมักจะตกเป็นภาระของสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง อาจทำให้ผู้ดูแลมีความรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ใช้คำพูดและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย
ดังนั้น ก่อนที่จะดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี จะต้องดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดีก่อน เช่น ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี
ป้องกันตนเองจากการบาดเจ็บจากการดูแลผู้ป่วย เช่น ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้าย หรือยกตัวผู้ป่วยไม่ถูกวิธี และเกินกำลังของตน
นอกจากนี้ควรทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข คลายความเครียด และที่สำคัญควรเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัวที่จำเป็นหรือเจ็บป่วย
อย่างไรก็ดี ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้แก่ผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว และควรจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม เพื่อการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดีและมีความสุข ผู้ดูแลไม่ทุกข์มีสุขภาพกายและใจที่ดี